การมีส่วนร่วมของชุมชน
ความสำคัญ
ชุมชนรอบโรงไฟฟ้านับเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญในการดำเนินงานของบริษัทฯ เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบตลอดระยะเวลาโครงการ การได้รับการยอมรับจากชุมชนจึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของโครงการ
บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมและการรับฟังข้อคิดเห็นของชุมชนตั้งแต่เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เพื่อนำข้อคิดเห็นหรือความกังวลใจของชุมชนมาออกแบบทางด้านวิศวกรรมเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันทั้งในช่วงดำเนินการก่อสร้างและดำเนินโครงการ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังสามารถนำข้อคิดเห็นจากการมีส่วนร่วมของชุมชนมาปรับปรุงการดำเนินงานและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ตรงกับความต้องการในพื้นที่
แนวทางการบริหารจัดการ
บริษัทฯ กำหนดให้มีการศึกษาด้านสังคม (Social Baseline Study) ในพื้นที่ในช่วงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยยึดแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อที่จะเข้าใจสภาพเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ดำเนินโครงการ อีกทั้งยังกำหนดแนวปฏิบัติด้านการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมตามบริบทในแต่ละพื้นที่
บริษัทฯ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย จำแนกกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางตรง ผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม และผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงการ ตั้งแต่เริ่มศึกษา เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อกังวลใจ แล้วนำมาออกแบบโครงการและสร้างมาตรการลดผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่โดยทั่วไปจะจำแนกผู้มีส่วนได้เสียของโครงการตามระดับของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการ
การจำแนกอาจมีความแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่และกฎหมายในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น
- ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ได้แก่ ชุมชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงเริ่มโครงการ เนื่องจากการโยกย้ายถิ่นฐานนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตแบบเดิม อาจส่งผลต่อการประกอบอาชีพ วัฒนธรรม จารีต และอื่น ๆ จึงต้องมีการการทำความเข้าใจและวางแผนการโยกย้าย และการส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่นี้ได้รับประโยชน์จากการโยกย้ายและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด การโยกย้ายโดยไม่ได้สมัครใจนั้นเป็นสิ่งที่โครงการหลีกเลี่ยงและนับเป็นความท้าทายและส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ
- ชุมชนที่อยู่ใกล้โครงการมาก ได้แก่ ชุมชนที่อยู่ติดกับพื้นที่บริเวณโครงการหรืออยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร (รัศมีอาจมีการปรับเปลี่ยนตามแต่ละพื้นที่) ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และมีความใกล้ชิดกับโครงการมากที่สุด บริษัทฯ จึงถือว่าชุมชนในกลุ่มนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีความสำคัญในระดับมากที่สุดในระหว่างดำเนินโครงการ ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้โครงการและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการจึงเป็นชุมชนที่จะถูกพิจารณาได้รับโอกาสจากโครงการมากที่สุด เช่น โอกาสในการเข้าทำงานในโครงการ การส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น
- ชุมชนที่อยู่ใกล้โครงการปานกลาง ได้แก่ ชุมชนที่อยู่ห่างจากโครงการออกไปมากกว่า 5 กิโลเมตร แต่ไม่เกิน 10 กิโลเมตร (รัศมีอาจมีการปรับเปลี่ยนตามแต่ละพื้นที่) หรือเป็นชุมชนที่บริษัทฯ ซื้อที่ดินเพื่อดำเนินงานแต่ไม่จำเป็นต้องโยกย้าย ซึ่งชุมชนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ แต่มีระดับของผลกระทบน้อยกว่าสองกลุ่มแรก บริษัทฯ จึงถือว่าชุมชนในกลุ่มนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีความสำคัญในระดับปานกลาง
- ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ ชุมชนที่อยู่ห่างออกไป หรือเป็นชุมชนที่รองรับการย้ายถิ่นที่อยู่ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ความหนาแน่นจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การคมนาคม เป็นต้น บริษัทฯ จึงถือว่าชุมชนในกลุ่มนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีความสำคัญในลำดับน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสามกลุ่มแรก
บริษัทฯ จัดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมกับผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม รวมถึงกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง (vulnerable group) เช่น ผู้ที่ไม่สามารถปกป้องสิทธิ์ หรือมีอิสระในการตัดสินใจที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น เด็ก คนชรา ผู้อพยพ กลุ่มชนพื้นเมือง เป็นต้น
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ได้แก่ โรงไฟฟ้าหลวนหนาน เจิ้งติ้งและโจวผิงในประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมและเขตเมืองเพื่อผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเย็นให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนนั้น บริษัทฯ จึงร่วมมือกับลูกค้า คู่ค้า ภาครัฐ และบริษัทข้างเคียงในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน อีกทั้งชุมชนยังเป็นหนึ่งในลูกค้า ที่สำคัญ ในช่วงหน้าหนาวที่รับซื้อ ความร้อนจากโรงไฟฟ้า ดังนั้น โรงไฟฟ้าจึงต้องมีการดำเนินงานให้เป็นไปตามความคาดหวังของชุมชน กล่าวคือ มีการพัฒนาการดำเนินงานให้โรงไฟฟ้าสามารถดำเนินงานอย่างมีเสถียรภาพ สามารถจ่ายพลังงานความร้อนได้อย่างมีคุณภาพ สม่ำเสมอ และมีความยืดหยุ่นต่อความต้องการของชุมชน
โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I & II ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ห่างไกลจากชุมชน โดยโรงไฟฟ้าใช้น้ำที่ผ่านการบำบัดจากชุมชนมาใช้ในการดำเนินงานในโรงไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรน้ำ และลดการดึงน้ำธรรมชาติมาใช้ในกระบวนการผลิต
ผลการดำเนินงาน
- ไม่มีข้อร้องเรียนที่มีนัยสำคัญจากชุมชน
- ไม่เกิดเหตุการณ์ที่ธุรกิจหยุดชะงักจากข้อร้องเรียนของชุมชน
ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา นับเป็นก้าวแรกในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในเวียดนามที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญในการดำเนินงาน เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบตลอดระยะเวลาโครงการ บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลด้านสังคมในพื้นที่โครงการ รวมถึงจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและการรับฟังข้อคิดเห็นของชุมชนก่อนดำเนินการก่อสร้างเพื่อรวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมของชุมชนไปสู่การออกแบบโครงการ การตัดสินใจ และการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างครอบคลุมทุกมิติทั้งในระหว่างการก่อสร้างและดำเนินโครงการ
บริษัทฯ ดำเนินการศึกษาข้อมูลด้านสังคมในปี 2562 โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่
- การรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิด้านสังคมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- การสำรวจและรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจสังคม เช่น จำนวนประชากรต่อครัวเรือน เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมท้องถิ่น การศึกษา อาชีพ การว่างงาน รายรับรายจ่ายต่อครัวเรือนเทียบกับเส้นความยากจน สาธารณูปโภคพื้นฐาน การสาธารณสุข การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ ในพื้นที่
- การจัดประชุมกลุ่มย่อยกลุ่มชุมชนผู้มีส่วนได้เสียรอบโครงการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐเพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น ตอบข้อซักถาม และให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยมีผู้เข้าร่วมจากการสุ่มตัวอย่างด้วยหลักการทางสถิติจำนวน 159 คน โดยจัดเป็นการประชุมกลุ่มย่อย 9 กลุ่ม และดำเนินการสำรวจครัวเรือน 90 ครัวเรือน
- ร่างขั้นตอนการรับข้อเรียน (Grievance Procedure) และกระบวนการแก้ไข
- ร่างแผนงานการมีส่วนร่วมของชุมชน
บริษัทฯ สามารถนำข้อมูลจากการศึกษาด้านสังคมในพื้นที่ไปใช้ประกอบการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและมองหาโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ในอนาคต
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เฮ่าหยวน ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านหมาจื่อยุ่ย (Ma Ziyu) ในเมืองไทอัน มณฑลชานตง ประเทศจีน ซึ่งเป็นหมู่บ้านชนบทที่มีความแห้งแล้งในช่วงฤดูหนาว มีโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างไฟฟ้าและน้ำใช้อย่างจำกัด ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งร้อยละ 60 อยู่ในช่วงอายุ 60-90 ปี และร้อยละ 30 อยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี
โรงไฟฟ้าเฮ่าหยวนได้ดำเนินโครงการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วยการสำรวจความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ พบว่ามีความต้องการในการปรับปรุงคุณภาพชีวิต ทั้งด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การเสริมสร้างทักษะเพื่อประกอบอาชีพ และการจ้างงานเพื่อเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือน
โรงไฟฟ้าเฮ่าหยวนจึงดำเนินโครงการเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชนและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเน้นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและการสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน
ตัวอย่างโครงการ
- อบรมทักษะในทางช่างเพื่อการซ่อมบำรุงในโรงไฟฟ้าแก่ชุมชน ได้แก่ ซ่อมบำรุงแผงโซลาร์ การเดินสายเคเบิล การก่อสร้าง และการทำความสะอาดในโรงไฟฟ้า
- จ้างงานรับเหมาในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การก่อสร้าง การติดตั้งรั้ว การซ่อมบำรุงแผงโซลาร์ การตัดหญ้า การเดินสายเคเบิล และการซ่อมบำรุงถนน เป็นต้น
- การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์บริเวณทางเดินถนนในหมู่บ้าน
- การซ่อมบำรุงบ้านพักให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
- กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุในพื้นที่ เช่น การทำอาหารมอบในงานเทศกาล การมอบปัจจัยในการดำเนินชีวิตในช่วงฤดูหนาว และการร่วมกิจกรรมด้านวัฒนธรรม เป็นต้น
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมือง แม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในการปฏิบัติงานของบริษัทฯ จะเป็นพื้นที่เมืองซึ่งไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ บริษัทฯ ยังคงศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองอย่างถ่องแท้ตั้งแต่เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการใหม่เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความราบรื่นโดยไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรม การส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียม เช่น การสาธารณสุขและการศึกษา การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากชนพื้นเมือง และโอกาสในการจ้างงานมากกว่าคนในท้องถิ่นอื่นในตำแหน่งเดียวกัน เป็นต้น
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง ตั้งอยู่ในเมืองฉือเจียจวง เขตเจิ้งติ้ง มณฑลเหอเป่ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 73 เมกะวัตต์ ผลิตความร้อนราวปีละ 10 ล้านกิกะจูลให้กับผู้ใช้ในเขตเจิ้งติ้ง ซึ่งประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในเมืองเจิ้งติ้ง โดยเป็นโรงไฟฟ้าเพียงโรงเดียวที่ผลิตความร้อนเข้าสู่ระบบทำความร้อนแบบรวมศูนย์ (centralized heating system) ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประชาชนในช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิเย็นจัด
โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนในพื้นที่ ได้ดำเนินโครงการด้านการปรับปรุงกระบวนการผลิตควบคู่ไปกับการตอบสนองต่อความต้องการขอบชุมชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ
- ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพอากาศปล่อยออกจากปล่องโดยลงทุนราว 200 ล้านหยวน ทำให้ในปัจจุบันคุณภาพอากาศจากโรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งมีคุณภาพดีกว่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างมีนัยสำคัญ สามารถควบคุมมลสารให้อยู่ในระดับต่ำมาก (Ultra-low emission) ทั้งปริมาณฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ส่งผลให้เป็นที่ยอมรับจากภาครัฐและได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในร้อยโครงการนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่นในปี 2563 (Top 100 Eco- environmental Innovation Projects in 2020)
- ปรับปรุงและขยายกำลังการผลิตให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการจัดสรรความร้อนจากระบบการทำความร้อนแบบรวมศูนย์อย่างทั่วถึง ตอบสนองต่อการขยายตัวของเมืองและประชากร โดยปัจจุบันครอบคลุมการให้บริการราวร้อยละ 96
- ขยายระยะเวลาในการส่งความร้อนให้แก่ชุมชนในช่วงฤดูหนาวเป็นเวลาหลายปีติดต่อกันโดยตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน
- เพิ่มความสะดวกให้แก้ผู้ใช้โดยปรับปรุงการระบบการจ่ายค่าบริการให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
- บริการแก้ไขปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดกับลูกค้าและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น
- ในปี 2564 ดำเนินการร่วมมือกับภาครัฐในการปรับปรุงสถานีแลกเปลี่ยนความร้อนเพื่อการให้บริการกับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปรับปรุงระบบการจ่ายความร้อน อาทิ การติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณ ซ่อมบำรุง และสร้างระบบการตรวจสอบจากระยะไกลเพื่อเพิ่มเสถียรภาพและประสิทธิภาพในระบบการจ่ายความร้อน โดยสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
จากการดำเนินงานดังกล่าว สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 58,000 ราย ได้ใช้ความร้อนในช่วงฤดูหนาวอย่างต่อเนื่องด้วยคุณภาพสูงในราคาที่คุ้มค่า ทำให้ประชาชนในพื้นที่เปลี่ยนมาใช้ระบบทำความร้อนแบบรวมศูนย์ฯ ทดแทนการทำความร้อนในแบบเดิม ส่งผลให้จำนวนลูกค้าของโรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2564 มีปริมาณการขายความร้อนแก่ชุมชนมากกว่าเป้าหมายร้อยละ 35.2 โดยมีรายได้จากการขายความร้อนให้แก่ชุมชน 27.3 ล้านหยวน รายได้จากการขยายพื้นที่บริการ (connection fee) 12.2 ล้านหยวน และรายได้สนับสนุนจากภาครัฐ (tariff) 24.3 ล้านหยวน
จากการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งจึงเป็นที่ไว้วางใจจากภาครัฐและชุมชน ได้รับการคัดเลือกจากภาครัฐให้เป็นผู้ดำเนินการโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในเมืองเจิ้งติ้ง โดยตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของสถานที่ราชการ โรงงาน และชุมชนทั้งหมดรวม 167 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปี 2566
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนดำเนินโครงการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทซึ่งยังต้องการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยเป้าหมายของการดำเนินโครงการคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการสร้างงานในชุมชน อีกทั้งยังสร้างความเข้าใจระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชน โดยดำเนินหลายโครงการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้จากการร่วมงานกับโรงไฟฟ้า เช่น การทำความสะอาดแผงโซล่าร์เซลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า การกำจัดวัชพืชและดูแลความสะอาดเพื่อป้องกันอัคคีภัย การเดินสายเคเบิล การก่อสร้าง และการทำความสะอาดเป็นต้น โดยมีการอบรมด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปเพื่อการดำเนินงานที่ปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมกับโครงการนั้นเป็นผู้ที่อาศัยในชุมชนโดยรอบโดยส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ส่งผลให้คนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มเป็นจำนวนรวม 1,286,600 หยวน อีกทั้งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน และเป็นประโยชน์กับบริษัทฯ ในการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยตลอดปีที่ผ่านมาสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก อีกทั้งชุมชนโดยรอบจะช่วยสอดส่องด้านการรักษาความปลอดภัยโดยรอบโครงการอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ
- สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2560 โดยในปี 2564 มีผู้สูงอายุได้รับการสนับสนุนในโครงการนี้จำนวน 74 คน
- การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างจากพลังงานแสงอาทิตย์ในบริเวณถนนในหมู่บ้านเพื่อความปลอดภัย
- การซ่อมบำรุงบ้านพักให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
- กิจกรรมด้านวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน อาทิ การทำอาหารมอบให้ในงานเทศการตามประเพณี การมอบปัจจัยช่วยเหลือในการดำรงชีวิตในช่วงฤดูหนาว การช่วยเหลือในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
บ้านปู เน็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัทฯ ลงทุนเพื่อการเติบโตในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงงาน มีสัดส่วนในการลงทุนร้อยละ 50 ได้ดำเนินโครงการ ”พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเรียนรู้ Light & Learn” นำแสงสว่างจากระบบโซลาร์ไปเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และสร้างประโยชน์ให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและไม่มีไฟฟ้าใช้
ในปีที่ผ่านมา พนักงาน ได้ร่วมกับกลุ่ม “ครูอาสาบนดอยสูง” ดำเนินโครงการที่โรงเรียน ศศช.บ้านโป๊ะพอคี จังหวัดตาก ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร โดยนักเรียนเป็นเด็กในชุมชนชาวไทยภูเขา ซึ่งปกติจะใช้ภาษาท้องถิ่นและไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ทำให้มีอุปสรรคทั้งการสื่อสาร และการเรียนรู้ บ้านปู เน็กซ์จึงได้ดำเนินการติดตั้งระบบโซล่าร์และแบตเตอรี่ รวมถึงมอบโทรทัศน์ และสื่อการเรียนต่าง ๆ เพื่อช่วยให้สามารถจัดการเรียนผ่านสื่อที่มีคุณภาพ และฝึกพูดภาษาไทยได้เร็วขึ้น อีกทั้งคนในชุมชนก็สามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ช่วยให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คณะทำงานยังได้จัดกิจกรรมสันทนาการและเสริมสร้างจินตนาการผ่านวิชาศิลปะ รวมถึงเรียนรู้คุณค่าของธรรมชาติและพลังงานสะอาด เช่น ทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ทำหน้ากากพรางตัว โดยให้เด็กๆ นำวัสดุธรรมชาติมาทำหน้ากากในสไตล์ตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมปลูกผักสวนครัว เล่านิทานพลังงานโซลาร์ให้ความรู้เรื่องพลังงานสะอาด พร้อมเลี้ยงอาหารกลางวัน และมอบของขวัญให้เด็ก ๆ
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บ้านปู เน็กซ์ ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมจิตอาสาของพนักงาน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกในท้องถิ่น ในการนำไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์ไปสร้างการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลและไม่มีไฟฟ้าใช้รวม 73 โรงเรียน กำลังผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 73,000 วัตต์ และสนับสนุนเด็ก ๆ มาแล้วกว่า 2,400 คน พร้อมมอบจานดาวเทียม และโทรทัศน์ สำหรับใช้เป็นสื่อในการเข้าถึงข้อมูลการศึกษาทางไกล มอบอุปกรณ์การเรียน และของใช้ที่จำเป็น
บ้านปู เน็กซ์ เป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัทฯ ลงทุนเพื่อการเติบโตในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน โดยมีสัดส่วนในการลงทุนร้อยละ 50
โรงไฟฟ้าเอชพีซีตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทในรัฐไชยบุรี สปป.ลาว มีประชากรในพื้นที่ราว 27,000 คน ซึ่งในช่วงเริ่มดำเนินโครงการ ชุมชนมีความกังวลใจด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการตั้งโรงไฟฟ้า อีกทั้งมีความต้องการที่จะยกระดับอนามัยชุมชนและการสาธารณสุขพื้นฐานของชุมชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นโรงไฟฟ้าเอชพีซีจึงได้ร่วมกับภาครัฐและชุมชนในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสุขภาพและส่งเสริมอนามัยในครัวเรือนและสุขภาพชุมชนตั้งแต่โรงไฟฟ้าเอชพีซีเริ่มเปิดดำเนินงานในช่วงปลายปี 2555อย่างเป็นระบบ
โรงไฟฟ้าเอชพีซีร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข ดำเนินการจัดตั้งอาสาสมัครชุมชนและจัดฝึกอบรมให้เกิดความเข้าใจด้านอนามัยในครัวเรือน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอนามัยสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขพื้นฐาน และร่วมกันสร้างตัวชี้วัดทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในครัวเรือน เพื่อให้อาสาสมัครใช้ในการติดตามตรวจสอบทุกเดือน เช่น พฤติกรรมการกักเก็บและใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค การจัดเตรียมอาหาร การจัดการของเสีย ความสะอาดการเจ็บป่วยของครัวเรือน เป็นต้น จากนั้นจะนำมาจำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สภาวะอนามัยสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนอยู่ในระดับดี ปานกลาง และต้องปรับปรุง ซึ่งอาสาสมัครจะได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุง เช่น การปรุงอาหารให้สุก การกำจัดแมลงที่เป็นพาหะของโรค การจัดการน้ำเสีย การจัดการคอกสัตว์เลี้ยงให้ถูกสุขอนามัย เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางในการรับข้อแนะนำหรือความกังวลใจจากชุมชน เพื่อการปรับปรุงและสื่อสารข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าให้กับชุมชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ
โรงไฟฟ้าเอชพีซีจึงได้จัดทำฐานข้อมูลการเฝ้าระวังสุขภาพ ให้อยู่ในระบบภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมกับภาวะสุขภาพของชุมชนตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลไปสู่การบริหารจัดการอื่น ๆ เช่น กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เอกสารดาวน์โหลด
นโยบายการมีส่วนร่วมของชุมชน
แนวปฏิบัติด้านการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย