ความสำคัญ
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ความเสี่ยงด้านน้ำทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เช่น ผลิตไอน้ำในหม้อต้ม ควบคุมอุณหภูมิในระบบหล่อเย็น ควบคุมคุณภาพอากาศ เป็นต้น ดังนั้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตและน้ำปล่อยออกที่มีประสิทธิภาพทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณจะช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนจากการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำจืดที่มีอยู่จำกัดในพื้นที่ และปัญหาด้านคุณภาพน้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทฯ ในด้านต้นทุนการผลิต การปฏิบัติตามกฎหมาย และความสัมพันธ์กับชุมชน
แนวทางการบริหารจัดการ
BPP กำหนดเป้าหมายอัตราการใช้น้ำในการผลิตและมีการติดตามผลการดำเนินงานเทียบกับเป้าหมายรายปี เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานสอดคล้องตามมาตรฐานการดำเนินงานที่ดีและเป็นไปตามข้อกำหนดด้านคุณภาพน้ำของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดทำแบบจำลองระบบน้ำ (Water system concept model) ของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง เพื่อใช้ติดตามและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยนำแนวทางลำดับชั้นการจัดการน้ำ (Water Management Hierarchy) มาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อให้มีการใช้น้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้
- การกำจัด (Elimination) การตัดการใช้น้ำในกระบวนการบางอย่าง ซึ่งพิจารณาเป็นทางเลือกแรกหากสามารถทำได้
- การลด (Reduction) การดำเนินการหรือพยายามลดการใช้น้ำในกระบวนการ เมื่อไม่สามารถกำจัดการใช้น้ำได้
- การนำกลับมาใช้ใหม่โดยตรง/การใช้น้ำจากผู้ผลิตภายนอก (Direct reuse/outsourcing) การใช้น้ำในหลายกระบวนการโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการบำบัด/การซื้อน้ำมาใช้จากผู้ผลิตภายนอก
- การนำกลับมาใช้ใหม่/การรีไซเคิล (Regeneration reuse/recycling) น้ำจะผ่านกระบวนการบำบัดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล
- น้ำจืด (Fresh water) พิจารณาใช้น้ำจืด เมื่อไม่สามารถนำใช้น้ำเสียกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้
เนื่องจากแหล่งน้ำของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในจีนใช้มาจากน้ำใต้ดินและน้ำจากผู้ผลิตภายนอกในกระบวนการผลิตไอน้ำ การบริหารจัดการจึงมุ่งเน้นการนำกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อลดปริมาณน้ำปล่อยออกและมีคุณภาพตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่สหรัฐอเมริกาเป็นการใช้น้ำจากผู้ผลิตภายนอกเพียงอย่างเดียวโดยเป็นน้ำใช้แล้วจากชุมชน และมีบ่อกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ภายในบริเวณพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเพื่อบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้วิธีการบำบัดทางชีวภาพ ควบคุมปริมาณสาหร่าย ความเป็นกรด-ด่าง ช่วยลดปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดน้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เพื่อเตรียมคุณภาพน้ำก่อนเข้าสู่ระบบบำบัดแบบ Zero-Liquid Discharge (ZLD) ทำให้น้ำมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าได้ จากการบริหารจัดการน้ำในโรงไฟฟ้าแบบองค์รวมนี้ ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถสำรองปริมาณน้ำใช้ได้อย่างพอเพียงและไม่มีการปล่อยน้ำเสียจากการผลิตออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง
เพื่อให้มั่นใจว่ามีการบริหารจัดการน้ำ และน้ำปล่อยออกมีคุณภาพเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด BPP มีมาตรการตรวจวัดคุณภาพน้ำก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกที่ดำเนินการตรวจวัดโดยบริษัทฯ และหน่วยงานภายนอก ทั้งนี้ชนิดของมลสารที่ทำการตรวจวัด ความถี่ และวิธีการตรวจวัดของแต่ละหน่วยธุรกิจอาจแตกต่างกันตามข้อกำหนดของแต่ละโครงการ และตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละพื้นที่ มีมาตรการป้องกันการรั่วไหลและปนเปื้อนของสารเคมีที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งกำหนดมาตรการและวิธีปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในกรณีเกิดอุบัติการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ และสามารถการฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะเวลาที่เหมาะสม
BPP ทบทวนการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับน้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงและผลกระทบด้านน้ำ เช่น ความเสี่ยงด้านจากการขาดแคลนน้ำ ความเสี่ยงจากภัยแล้ง ความเสี่ยงด้านกฎหมาย เป็นต้น รวมทั้งเตรียมมาตรการลดความเสี่ยงและการตรวจติดตามต่างๆ โดยทำการประเมินด้วยแผนที่ความเสี่ยงด้านน้ำ (Aqueduct) ของ World Resources Institute (WRI)
ผลการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำของโรงไฟฟ้า บริษัทฯ นำมาผนวกรวมเข้ากับการประเมินความเสี่ยงขององค์กร โดยมีมาตรการในการบริหารความเสี่ยง ดังนี้ หัวข้อมาจาก CSA ฉบับภาษาไทยไม่ต้องใส่ภาษาอังกฤษ
หัวข้อ |
มาตรการบริหารความเสี่ยง |
ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำจากการพึ่งพาแหล่งน้ำ (Dependency-related water risks considered in risk assessment) |
|
ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากน้ำ (Impact-related water risks considered in risk assessment) |
|
การประเมินปริมาณน้ำที่จะมีในอนาคต (Assessment of future water quantities available) |
|
การประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำในอนาคต(Assessment of future water quality-related risks) |
|
การประเมินผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น (Assessment of impacts on local stakeholders) |
|
การประเมินการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในระดับท้องถิ่น (Assessment of future potential regulatory changes at a local level) |
|
ในการวัดผลการดำเนินงาน BPP มีการจัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำของธุรกิจตามมาตรฐาน GRI 303 (2018) เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ โดยน้ำที่ดึงจากแหล่งน้ำประกอบด้วยปริมาณน้ำผิวดินที่สูบจากแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำใต้ดินที่สูบมาใช้งาน และปริมาณน้ำที่รับจากหน่วยงานภายนอก โดยไม่รวมปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ เนื่องจากไม่มีการใช้น้ำดังกล่าว ภายใต้สมมติฐานว่าแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่มีความจุน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ดึงจากแหล่งน้ำทั้งหมด สำหรับข้อมูลปริมาณน้ำทั้งหมดเก็บจากมิเตอร์วัดน้ำ
ผลการดำเนินงาน
- อัตราการใช้นํ้าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ 0.817 ลบ.ม./เมกะวัตต์-ชั่วโมง
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 0.717 ลบ.ม./เมกะวัตต์-ชั่วโมง
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 0.897 ลบ.ม./เมกะวัตต์-ชั่วโมง
- คุณภาพนํ้าปล่อยออกเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ
การประเมินความเสี่ยงด้านน้ำ
BPP ประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำจากตำแหน่งพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทุกแห่งเป็นประจำทุกปี เนื่องจากมีความต้องการปริมาณน้ำในกระบวนการผลิตสูง โดยใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยง Aqueduct 4.0 ที่อ้างอิงจาก WRI Aqueduct Water Risk Atlas ซึ่งเป็นโปรแกรมแสดงการจัดจำแนกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำ เช่น ความเสี่ยงด้านกายภาพเชิงปริมาณและคุณภาพ ความเสี่ยงทางด้านกฎหมายและชื่อเสียง และคาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคต เป็นต้น
จากการประเมินในปี 2567 โดยใช้ข้อมูลพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในปัจจุบันและคาดการณ์ในปี 2573 พบว่า ความเสี่ยงด้านน้ำไม่เปลี่ยนแปลงจากการประเมินในปีก่อนหน้า ผลการประเมินและมาตรการจัดการความเสี่ยงสามารถสรุปได้ดังนี้
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนนาน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโจวผิงในจีนที่ BPP มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยตรง ทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำระดับสูงมาก โดยโรงไฟฟ้าได้ดำเนินการปรับปรุงเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและปริมาณน้ำปล่อยออกให้เป็นไปตามที่ภาครัฐกำหนด และส่วนต่อขยายของโรงไฟฟ้าได้ติดตั้งระบบรีไซเคิลเพื่อให้สามารรถนำน้ำกลับมาใช้ได้ทั้งหมด
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple ในสหรัฐอเมริกา ที่ BPP มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยตรง พบว่า โรงไฟฟ้ามีความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำในระดับต่ำถึงปานกลาง มีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำในระดับปานกลางถึงสูง โดยโรงไฟฟ้าได้มีการติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำใช้ในโรงไฟฟ้า ทำให้สามารถลดการใช้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่และไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก
- โรงไฟฟ้าพลังความร้อนซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ได้แก่ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทย และโรงไฟฟ้าเอชพีซีในสปป.ลาว พบว่า โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีมีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำในระดับสูง เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ติดทะเล โดยโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีได้ลงทุนในการสร้างโรงผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วยวิธีการผลิตน้ำจืดและน้ำประปาจากน้ำทะเลด้วยระบบกรองน้ำโดยใช้ระบบรีเวิร์สออสโมซิส (The Reverse Osmosis Seawater Desalination Plant : ROSDP) กำลังการผลิต 1,000 ลบ.ม./ วัน เพื่อบรรเทาวิกฤตการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกให้เพียงพอต่อภาคประชาชนและเกษตรกรรม สามารถลดปริมาณการใช้น้ำจืดในพื้นที่มาใช้ลงทั้งหมด (ร้อยละ 100) ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สำหรับโรงไฟฟ้าเอชพีซี ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำในระดับต่ำ แต่โรงไฟฟ้าได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำในพื้นที่ ได้แก่ แหล่งน้ำเลือก และแหล่งน้ำแก่น โดยดำเนินการศึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนำโปรแกรมจำลองมาใช้ในการพยากรณ์สมดุลน้ำในพื้นที่ กำหนดตัวชี้วัดปริมาณน้ำในจุดต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังและกำหนดมาตรการที่เหมาะสม รวมถึงสร้างบ่อพักน้ำภายในพื้นที่เพื่อเป็นควบคุมคุณภาพน้ำและนำกลับมารีไซเคิล
การปรับปรุงอัตราการใช้น้ำและการสูญเสียความร้อนของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง
จากการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาลในภาคอุตสาหกรรมของจีน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้งต้องปรับเปลี่ยนการใช้น้ำจากน้ำบาดาลมาเป็นน้ำผิวดิน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการใช้น้ำเพิ่มขึ้นราว 2 เท่า
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้งได้มองเห็นโอกาสในการลดอัตราการใช้น้ำและความร้อนที่สูญเสียไปในระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและลดต้นทุนการผลิต โดยออกแบบและติดตั้งระบบท่อและเครื่องสูบน้ำเพื่อหมุนเวียนการใช้น้ำที่โรงเก็บสารเคมีและหอระบายความร้อน จากการดำเนินงานพบว่าสามารถลดการดึงน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินได้ประมาณ 280,000 ตัน หรือ ประหยัดต้นทุนการผลิตได้ราว 205,000 เหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนของระบบทำความร้อนได้ 27,453 เหรียญสหรัฐ และลดค่าใช้จ่ายในการสูญเสียความร้อนความร้อนได้ 123,536 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมนวัตกรรมในองค์กรของ BPP
ระบบการจัดการน้ำที่โรงไฟฟ้า Temple
โรงไฟฟ้า Temple มีบ่อกักเก็บน้ำขนาด 10 เอเคอร์ (ประมาณ 40,000 ตารางเมตร) ภายในบริเวณพื้นที่ของโรงไฟฟ้า เพื่อใช้กักเก็บน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่จากโรงบำบัดน้ำเสียที่ให้บริการแก่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า น้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่นี้เป็นแหล่งน้ำหลักที่ช่วยลดการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถใช้น้ำเพื่อใช้อุปโภคได้เพียงพอต่อความต้องการ โดยมีต้นทุนต่ำกว่าแหล่งน้ำบาดาลหรือน้ำที่ใช้ในการบริโภคอื่นๆ
โรงไฟฟ้า Temple บำบัดน้ำในเบื้องต้นด้วยวิธีการทางชีวภาพ โดยเลี้ยงปลาซึ่งกินพืชและสาหร่ายเป็นอาหาร จึงช่วยควบคุมปริมาณสาหร่ายและความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ส่งผลให้สามารถลดปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดน้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ จากนั้นน้ำจะถูกนำเข้าสู่ระบบบำบัด Zero-Liquid Discharge (ZLD) ของโรงไฟฟ้าเพื่อให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าต่อไป
จากการบริหารจัดการน้ำในโรงไฟฟ้า Temple แบบองค์รวม ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถสำรองปริมาณน้ำใช้ได้อย่างพอเพียงและไม่มีการปล่อยน้ำเสียจากการผลิตออกสู่ลุ่มน้ำเท็กซัส
ประโยชน์ที่ได้รับ
- ใช้วิธีการทางชีวภาพในการบำบัดน้ำ ทำให้สามารถลดการใช้สารเคมี Sodium Hypochlorite (NaClO) เพื่อบำบัดน้ำเสีย ปริมาณ 200 ตัน/ปี หรือลดค่าใช้จ่ายราว 648,912 เหรียญสหรัฐ
- ลดปริมาณการปล่อยน้ำเสียได้ราว 1.95 เมกะลิตร/ปี
- ลดผลกระทบจากการดึงทรัพยากรน้ำธรรมชาติในพื้นที่มาใช้
- สร้างทัศนคติที่ดีต่อชุมชน
เอกสารดาวน์โหลด
นโยบายการบริหารจัดการน้ำ