ความสำคัญ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทั่วโลกให้ความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น นานาประเทศได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส จึงมีการกำหนดนโยบายและกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในหลายประเทศ เช่น ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) การจำกัดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน ภาษีคาร์บอน รวมถึงให้การส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสที่สำคัญของ BPP ในการเติบโตในธุรกิจพลังงาน
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ BPP สามารถสรุปได้ดังนี้
แนวทางการบริหารจัดการ
BPP ดำเนินธุรกิจการผลิตไฟฟ้าและพลังงาน จึงมีการใช้พลังงานจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงโดยตรง บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Scope 1) จากการใช้เชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 99 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของ BPP เป็นธุรกิจต้นน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานอื่น ๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย
BPP มองเห็นโอกาสและศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดการสูญเสียพลังงานในกระบวนการผลิต ศึกษาการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมองหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ เริ่มดำเนินโครงการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) และมองหาโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS)
BPP ได้มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพและการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมายในประเทศต่าง ๆ เช่น นำระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจมาใช้ การประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามแนวทาง TCFD รวมถึงการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ในการพิจารณาการลงทุนในโครงการต่าง ๆ
โครงสร้างหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
BPP มีแนวทางในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจต่าง ๆ ดังนี้
- โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่ดำเนินการผลิตในปัจจุบัน
-
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ BPP มีอำนาจในการบริหารจัดการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในจีน 3 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูง กล่าวคือ มีการสูญเสียพลังงานในการผลิตประมาณร้อยละ 25 ในช่วงที่ผลิตไอน้ำและไฟฟ้าเต็มกำลังการผลิต ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวจะมีการสูญเสียพลังงานในการผลิตประมาณร้อยละ 65 ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมมีอัตราการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ อย่างไรก็ตาม ความต้องการของลูกค้าในการรับซื้อไอน้ำในแต่ละช่วงเวลาส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก BPP จึงมุ่งเน้นการจัดการโดยการใช้นวัตกรรมเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการให้โรงไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นในการรองรับปริมาณความต้องการไอน้ำที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งได้ทดลองนำชีวมวลมาเผาร่วมกับถ่านหินเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน และจัดให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับกลุ่มบ้านปู โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งได้รับการตรวจสอบและรับรองข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมยังมองหาโอกาสในการการดำเนินธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ผลิตและให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร เช่น การเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาให้แก่หน่วยงานภาครัฐเป็นต้น
-
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ BPP มีอำนาจในการบริหารจัดการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา เป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูง ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายในตลาดไฟฟ้าเสรี เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเป็นโรงไฟฟ้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงทั่วไปอยู่แล้ว BPP จึงมุ่งเน้นการบริหารจัดการและการซ่อมบำรุงประจำปีอย่างสม่ำเสมอให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าในด้านอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อัตราการใช้พลังงาน อัตราการใช้น้ำ และลดความสูญเสียในระบบการผลิต นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับกลุ่มบ้านปู โดยโรงไฟฟ้า Temple ได้รับการตรวจสอบและรับรองข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน
-
- โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่เป็นบริษัทร่วมทุน เช่น โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี โรงไฟฟ้าเอชพีซี และโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการและการซ่อมบำรุงประจำปีให้มีคุณภาพ รวมถึงนำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อพยากรณ์การซ่อมบำรุงในระบบที่สำคัญก่อนที่เครื่องจักรจะเสีย (Predictive Maintenance) ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้มีการใช้เชื้อเพลิงต่อหน่วยการผลิตลดลง รักษาดัชนีความพร้อมจ่ายได้ตามการออกแบบ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่สำคัญอันสะท้อนถึงความพร้อมและประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า และส่งผลโดยตรงในการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยหน่วยงานบริหารสินทรัพย์ของ BPP จะเป็นผู้ติดตามตรวจสอบร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมทุนในโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การนำรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้ในการขนส่งหินปูนในโรงไฟฟ้าเอชพีซี โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแอมโมเนียมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก และการใช้ชีวมวลในโรงไฟฟ้าเอชพีซี เป็นต้น
- โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เป็นบริษัทร่วมทุน บริษัทฯ มีสัดส่วนในการลงทุนร้อยละ 50 ในบ้านปู เน็กซ์ เพื่อดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน ให้บริการลูกค้าในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดพร้อมกับโซลูชั่นเพื่อการจัดการพลังงานอย่างครบวงจรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ระบบกักเก็บพลังงาน ธุรกิจยานพาหนะไฟฟ้า ธุรกิจพัฒนาชุมชนอัจฉริยะ และธุรกิจบริหารจัดการระบบการใช้พลังงาน เป็นต้น นอกจากนี้ BPP ยังขยายธุรกิจในพลังงานสะอาดในสหรัฐอเมริกา โดยลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์พอนเดอร์ ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ในพื้นที่แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ของกลุ่มบ้านปู เพื่อตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในตลาดไฟฟ้าเสรี
- โครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังพัฒนาและขยายกำลังการผลิต BPP มีนโยบายไม่ลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน กำหนดกลยุทธ์ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งใช้เชื้อเพลิงที่มีความมั่นคงในการผลิต มีความยืดหยุ่นสูงในการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อตอบสนองต่อตลาดไฟฟ้าเสรี นอกจากนี้ยังลงทุนอย่างต่อเนื่องในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงานผ่าน บ้านปู เน็กซ์ มองหาโอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต
- โครงการธุรกิจลดการปล่อยคาร์บอน BPP กำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน และตอบสนองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีการตั้งเป้าหมายสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจที่ปล่อยพลังงานคาร์บอนต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ภายในปี 2573 และเริ่มการลงทุนในโครงการ Cotton Cove ในสหรัฐอเมริกา ที่ใช้เทคโนโลยีการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนกับ บริษัท BKV dCarbon Ventures นอกจากนี้ ยังมองหาโอกาสในธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แอมโมเนีย ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงจากชีวมวล เป็นต้น
การเก็บรวบรวมข้อมูล ปริมาณดีเซล ไบโอดีเซล และเบนซิน โดยรวบรวมจากข้อมูลในใบเสร็จรับเงิน ส่วนปริมาณถ่านหินได้จากเครื่องชั่งที่สายพานลำเลียงถ่านหินก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงไฟฟ้า ปริมาณก๊าซได้จากมิเตอร์วัดอัตราการไหลของก๊าซ ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตของโรงไฟฟ้าที่สหรัฐอเมริกาได้จากมิเตอร์วัดค่าความร้อนตามการใช้จริง
การคำนวณปริมาณการใช้พลังงาน บริษัทฯ ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ (Energy conversion factor) อ้างอิงตาม GHG Protocol: Emission Factors from Cross Sector Tools สำหรับดีเซล ไบโอดีเซล และเบนซิน และใช้ค่าจากการตรวจวัดรายเดือนสำหรับถ่านหินและก๊าซทิ้ง
การคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก BPP รวมรวมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉพาะธุรกิจที่ BPP มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยตรง (Operational control) โดยใช้ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) อ้างอิงตาม Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) Fifth Assessment Report (AR5) โดยค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission factors) อ้างอิงตาม A Corporate Accounting and Reporting Standard (Revised Edition) และค่าสัมประสิทธิ์เฉพาะในกรณีที่มีค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉพาะสำหรับภูมิภาค ทั้งนี้ก๊าซที่ใช้ในการคำนวณประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) และซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6)
ผลการดำเนินงาน
- อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope 1&2) 0.430 ตัน CO2e/เมกะวัตต์–ชั่วโมง ลดลงร้อยละ 21.7 เมื่อเทียบกับเป้าหมาย
-
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 0.497 ตัน CO2e/เมกะวัตต์–ชั่วโมง
-
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 0.377 ตัน CO2e/เมกะวัตต์–ชั่วโมง
- สัดส่วน EBITDA จากธุรกิจพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำร้อยละ 27
- กำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 410 เมกะวัตต์
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (Scope 3)
BPP ได้ประเมินการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (Scope 3) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ปี 2566 โดยใช้เกณฑ์ตามมาตรฐานการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของ World Resource Institute (WRI) เพื่อใช้พิจารณาความเกี่ยวข้องของกิจกรรม 15 หมวด โดยในปี 2567 มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (Scope 3) รวมเท่ากับ 14,066,691 ตัน CO2e จากกิจกรรมดังต่อไปนี้
กิจกรรม | ความเกี่ยวข้องกับบริษัท | ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
(ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) |
การคำนวณ |
หมวดที่ 1 สินค้าและบริการนำเข้า | เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดหา การผลิต ของวัตถุดิบ สารเคมีที่ใช้ในโรงไฟฟ้า และงานจัดจ้างผู้รับเหมา
|
ไม่มีการคำนวณ เนื่องจากคิดเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น | – |
หมวดที่ 2 สินทรัพย์ประเภททุน | เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดหา การผลิตของสินค้าทุน เช่น เครื่องจักร อะไหล่ ยานพาหนะ และวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในโรงไฟฟ้า และสำนักงาน
|
255,693 |
|
หมวดที่ 3 กิจกรรมเกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและพลังงาน | เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดหา การผลิต ของสินค้าทุน เช่น คอมพิวเตอร์ในสำนักงาน | 1,092,748 |
|
หมวดที่ 4 การขนส่งและกระจายสินค้านำเข้า | เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัตถุดิบ และเครื่องจักรในโรงไฟฟ้าโดยคู่ค้าหรือผู้รับเหมา | ไม่มีการคำนวณ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจัดส่งทางท่อ และเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน มาจากคู่ค้าที่หลากหลาย คิดเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น | – |
หมวดที่ 5 ของเสียที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน | เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียจากการผลิต | ไม่มีการคำนวณ เนื่องจากคิดเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น | – |
หมวดที่ 6 การเดินทางเพื่อธุรกิจ | เกี่ยวข้องกับการเดินทางเพื่อธุรกิจของพนักงานโดยเครื่องบิน รถไฟ และรถยนต์ | ไม่มีการคำนวณ เนื่องจากคิดเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น | – |
หมวดที่ 7 การเดินทางของพนักงาน | เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปกลับของพนักงานจากที่ทำงานด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือระบบขนส่งสาธารณะ | ไม่มีการคำนวณ เนื่องจากคิดเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น | – |
หมวดที่ 8 สินทรัพย์ที่เช่ามา | บริษัทไม่มีสินทรัพย์ที่เช่ามาที่เกี่ยวข้องกับการผลิต มีเพียงการเช่าพื้นที่สำนักงาน | ไม่มีการคำนวณ เนื่องจากคิดเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น | – |
หมวดที่ 9 การขนส่งและกระจายสินค้าส่งออก | ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของสายส่งไฟฟ้า ท่อส่งไอน้ำ น้ำร้อนและน้ำเย็น | – | – |
หมวดที่ 10 การแปรรูปสินค้าที่จำหน่าย | ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากสินค้าของบริษัทอยู่ในรูปของพลังงาน เช่น ไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำร้อนจึงไม่มีกระบวนการแปรรูปสินค้า | – | – |
หมวดที่ 11 การใช้สินค้าที่จำหน่าย | เนื่องจากสินค้าของบริษัทอยู่ในรูปของพลังงาน เช่น ไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำร้อน การใช้พลังงานของลูกค้า จึงเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Scope 2) ของลูกค้า | – | – |
หมวดที่ 12 การกำจัดซากสินค้าที่จำหน่าย | ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากสินค้าบริษัทอยู่ในรูปของพลังงาน เช่น ไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำร้อน จึงไม่มีกระบวนการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ | – | |
หมวดที่ 13 สินทรัพย์ที่ให้เช่า | ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการเช่าสินทรัพย์ และไม่มีสินทรัพย์ให้ผู้อื่นมาเช่า | – | – |
หมวดที่ 14 การดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์ | ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ | – | – |
หมวดที่ 15 การลงทุน | เกี่ยวข้องกับการลงทุนในบริษัทร่วมทุน ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า BLCP, HPC, Sanxi Lu Guang, และ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด | 12,718,250 |
|
ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ
การประเมินความเสี่ยง ผลกระทบ และโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บริษัทฯ ดำเนินการประเมินความเสี่ยง ผลกระทบ และโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงปี 2565 – 2583 โดยมีขอบเขตครอบคลุมการลงทุนในทุกหน่วยธุรกิจซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนที่มีนัยสำคัญ หรือมากกว่าร้อยละ 30
การกำหนดราคาคาร์บอน
บริษัทฯ ได้นำการกำหนดราคาคาร์บอนในบริษัทฯ (Internal Carbon Prices) ซึ่งจะมีการกำหนดราคาต้นทุนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนและความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ให้ความสำคัญกับโครงการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงเป็นปัจจัยที่จะทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทฯ เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ และเพื่อเตรียมความพร้อมและปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในการใช้กฎหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โครงการปรับปรุงระบบกำจัดเถ้าหนักหม้อไอน้ำ
การออกแบบระบบกำจัดเถ้าหนักหม้อไอน้ำของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโจวผิงแบบเดิม ประกอบด้วย สายพานลำเลียงเถ้าหนักใต้หม้อไอน้ำ ปั๊มปล่อยเถ้าหนักแบบไฮดรอลิก ถังแยกน้ำ ทั้งหมดรวม 28 ชุด และยังมีระบบท่อขนส่งเถ้าหนักยาวกว่า 1,000 เมตร จากการวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับระบบกำจัดเถ้าหนักหม้อไอน้ำ พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นร้อยละ 65 มาจากการขนส่งเถ้าหนัก เนื่องจากการสึกกร่อนที่รุนแรงจากส่วนผสมของเถ้าหนักและน้ำที่มีความเร็วสูง
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโจวผิงจึงได้ศึกษาและปรับปรุงระบบขนส่งเถ้าหนักให้ดีขึ้น โดยใช้สายพานลำเลียงเถ้าหนักร่วมกับถังเก็บเถ้าหนักแทนที่ระบบเดิมที่มีถังแยกน้ำ ท่อขนส่งเถ้าหนัก และเครื่อสูบเถ้าหนัก ซึ่งทำให้ระบบดังกล่าวมีประสิทธิภาพดีขึ้น จากการลดจำนวนอุปกรณ์ ลดระยะทางในการขนส่ง สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 0.2 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 987 ตัน CO2e/ปี
การนำชีวมวลมาเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน (Biomass Co-firing) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนดในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำของจีน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้งเป็นโรงไฟฟ้าของ BPP แห่งแรกที่ได้มีการทดลองนำชีวมวลมาเผาไหม้ร่วมกับถ่านหินที่หม้อไอน้ำหมายเลข 2 เพื่อลดความอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มรายได้จากการขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากการทดลองพบว่าการเผาชีวมวลร่วมกับถ่านหินสามารถทำได้อย่างเสถียรและมีประสิทธิภาพ โดยโรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งจึงมีแผนจะเพิ่มอัตราส่วนผสมของชีวมวลในปี 2568 เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าหมายมีอัตราส่วนผสมชีวมวลร้อยละ 10 และมีรายได้จากการขายสิทธ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 6.5 ล้านหยวน/ปี ภายใน 2569
การนำชีวมวลมาผสมร่วมกับถ่านหินไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับโรงไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังช่วยลดผลกระทบจากการกำจัดของเสียทางการเกษตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างโอกาสในการจ้างงาน และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น
โครงการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ในประเทศญี่ปุ่น
ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานทั่วโลกมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความต้องการพลังงานที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับความต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) จึงเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน
บริษัทฯ ใช้ BESS ในโครงการ TONO Matsuzaki Battery Park ซึ่งโครงการนี้ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานในปีงบประมาณ 2564 เพื่อเร่งการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในจังหวัดอิวาเตะ เมืองโตโน่ บนพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร
โครงการนี้จะรับกระแสไฟฟ้าจากระบบในช่วงที่ความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off peak demand) เพื่อกักเก็บในแบตเตอรี่ขนาดรวมประมาณ 14,500 กิโลวัตต์ แล้วจ่ายกระแสไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (Peak demand) โดยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปี ซึ่งปัจจุบันได้ทำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และอยู่ระหว่างการเชื่อมต่อระบบสายส่งกับผู้รับซื้อไฟฟ้า (Grid Connection) รวมทั้งการทดสอบระบบ โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมิถุนายน 2568
เส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของกลุ่มบ้านปู
เส้นทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เป็นความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
- การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: กลุ่มบ้านปูได้คำนวณและเปิดเผยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Scope 1) และทางอ้อม (Scope 2) สำหรับการดำเนินงานธุรกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มบ้านปู ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (Scope 3) อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยมีแผนที่จะคำนวณและเปิดเผยแหล่งการปล่อยก๊าซสามอันดับแรกอย่างครบถ้วนภายในปี 2569
- การตั้งเป้าหมาย: เพื่อให้สอดคล้องกับความพยายามในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส กลุ่มบ้านปูได้ตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 20 ภายในปี 2573 โดยใช้ปี 2566 เป็นปีฐาน
- การพัฒนาการดำเนินงานเพื่อลดคาร์บอน: ส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายคือการดำเนินการตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงาน การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ทั้งนี้ กลุ่มบ้านปูได้รวมแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้ากับการประชุมเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจประจำปี นอกจากนี้ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะได้รับการติดตามและกำกับดูแลโดยคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกไตรมาส
BPP ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบ้านปู จึงได้กำหนดกลยุทธ์ Beyond Quality Megawatts เพื่อให้มีการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว เช่น การใช้เทคโนโลยีปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า การนำชีวมวลมาใช้ในการผลิตเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มองหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและเทคโนโลยีด้านพลังงาน อีกทั้งเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการรับรองความถูกต้องจากหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงผลการดำเนินงานตามเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ
เอกสารดาวน์โหลด
นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ