ความสำคัญ
การอนุรักษ์ทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อลดของเสียจากการดำเนินงานให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งนี้การบริหารจัดการของเสียที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้น รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบจากสาเหตุการหกรั่วไหลหรือการกำจัดของเสียอันตรายที่ไม่เหมาะสม ในธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป นอกจากของเสียอันตรายและของเสียไม่อันตรายแล้ว ยังมีเถ้าและยิปซัมที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและกระบวนการบำบัดคุณภาพอากาศ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการจำหน่ายเพื่อนำไปผสมกับวัสดุก่อสร้าง
แนวทางการบริหารจัดการ
BPP กำหนดเป้าหมายการจัดการของเสียและมีการติดตามผลการดำเนินงานเทียบกับเป้าหมายรายปี เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานสอดคล้องตามมาตรฐานการดำเนินงานที่ดีและเป็นไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ โดยใช้หลักการ 3Rs เป็นแนวทางในการบริหารจัดการของเสีย ประกอบด้วย
- การลดการใช้ที่แหล่งกำเนิด (Reduce)
- การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse)
- การรีไซเคิล (Recycle)
นอกจากนี้ BPP ยังส่งเสริมแนวทางปฏิบัติในการจัดการของเสียให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งได้มีการจำแนกของเสียจากโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ ออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งมีแนวทางการบริหารจัดการสรุปได้ดังนี้
ในการวัดผลการดำเนินงาน BPP เก็บข้อมูลของเสียตามมาตรฐาน GRI 306 Waste (2020) ตั้งแต่ปี 2564 โดยเก็บรวบรวมปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นและที่ส่งไปกำจัดด้วยการชั่งน้ำหนักและบันทึกก่อนนำไปบริหารจัดการหรือกำจัด ซึ่งปริมาณของเสียที่ถูกส่งไปกำจัดโดยหน่วยงานภายนอกจะถูกบันทึกจากใบเสร็จรับเงิน และมีการคัดเลือกหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐในการขนส่งและกำจัดเพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการเป็นไปตามมาตรฐานตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
สำหรับเถ้าและยิปซัมจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมได้นับรวมอยู่ในของเสียไม่อันตราย ซึ่งได้คัดแยกขนาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและจำหน่ายให้แก่ลูกค้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ผลการดำเนินงาน
- ของเสียอันตรายที่นำไปกำจัดโดยตรง 3 ตัน
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 3 ตัน
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 0 ตัน
- ของเสียไม่อันตรายที่นำไปกำจัดโดยตรง 286 ตัน
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 279 ตัน
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 7 ตัน
- ไม่มีของเสียอันตรายที่กำจัดด้วยวิธีฝังกลบ
- ไม่มีอุบัติการณ์ที่เกิดการรั่วไหลที่มีนัยสำคัญ
- สัดส่วนเถ้าที่กำจัดด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล ร้อยละ 100
- สัดส่วนยิปซัมที่กำจัดด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล ร้อยละ 100
ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ
การใช้ของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิงผสมกับถ่านหินของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโจวผิง
โรงไฟฟ้าโจวผิงทำการศึกษาเกี่ยวกับการนำของเสีย (Solid Waste) ที่เหลือจากกระบวนการผลิตหรือจากโรงงานอุตสาหกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด โดยสำรวจหาของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียงที่ยังมีค่าความร้อนและสามารถนำไปใช้ในการเผาไหม้ในหม้อต้มไอน้ำ จากการสำรวจพบว่าของเสียเช่น ถ่านกัมมันต์ที่ใช้แล้ว เถ้าลอย และกากตะกอนจากโรงบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น ยังคงมีค่าความร้อนและสามารถนำไปเผาไหม้ต่อได้
โรงไฟฟ้าโจวผิงดำเนินการศึกษาและทดสอบการนำถ่านกัมมันต์ที่ใช้แล้วจากโรงงานน้ำตาลของลูกค้า ซึ่งมีค่าความร้อนราว 2,300 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม มาใช้ในการผสมกับถ่านหิน จนได้อัตราส่วนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตและค่าคุณภาพอากาศจากปล่องไม่เกินค่ามาตราฐานในอัตราส่วนร้อยละ 10-20 โดยพบว่าถ่านกัมมันต์ราว 2,000-4,000 ตัน สามารถใช้ทดแทนถ่านหินที่ใช้ 600-1,260 ตัน โครงการนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าราว 6.4 ล้านหยวนต่อปี สามารถลดการพึ่งพาการใช้ถ่านหินได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งสามารถช่วยลดปัญหาของเสียจากอุตสาหกรรมของลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง โดยสามารถนำของเสียกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ราว 26,250 ตัน/ปี ซึ่งสามารถนำมาขยายผลได้ในอนาคต แม้ว่าการผสมของเสียจะทำให้ประสิทธิภาพของหม้อต้มน้ำลดลงเล็กน้อยราวร้อยละ 0.6
โครงการทำความสะอาดริมแม่น้ำเวิ่นอวี่ เพื่อสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงาน
บริษัท Banpu Investment (China) Ltd. หรือ BIC บริษัทย่อยของ BPP ในประเทศจีน ได้ร่วมมือกับมูลนิธิการปกป้องสิ่งแวดล้อมของปักกิ่ง (Beijing Watcher) จัดกิจกรรมทำความสะอาดชายหาดริมแม่น้ำเวิ่นอวี่ในปักกิ่ง ในวันที่ 19 เมษายน 2567 โดยมีพนักงานจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 40 คน และได้แบ่งพนักงานเป็น 4 กลุ่ม ร่วมกันเก็บขยะบริเวณชายหาดที่สวยงาม เช่น ก้นบุหรี่ ฝาขวด ถุงพลาสติกที่ใช้แล้ว เป็นต้น คิดเป็นน้ำหนักรวม 28 กิโลกรัม
กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงทัศนียภาพตามแนวแม่น้ำเท่านั้น แต่ยังช่วยให้พนักงานเข้าใจถึงอันตรายของขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความสำคัญของการปกป้องระบบนิเวศของแม่น้ำได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานและหน่วยงานท้องถิ่น และแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของพนักงานในทุกประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจ
การให้ความรู้แก่พนักงานในการจัดการขยะ
กลุ่มบ้านปูเห็นความสำคัญของพนักงานทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองที่ดีของสังคมในการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากร โดยได้เชิญคุณก้อง นายชณัฐ วุฒิวิกัยการ หรือ ก้อง กรีนกรีน คอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดังมาบอกเล่าวิธีรักษ์โลกแบบสนุกสนานและเข้าใจง่ายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย มาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่พนักงานกลุ่มบ้านปูในงานวันแห่งความปลอดภัย หรือ Safety Day ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 เพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาขยะในประเทศไทย ความรู้ความเข้าใจในการแยกขยะประเภทต่างๆ รวมทั้งวิธีการลดขยะ เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การนำขยะมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการคัดแยกขยะลงถังขยะประเภทต่างๆ ให้ถูกต้อง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน
เอกสารดาวน์โหลด
นโยบายการบริหารจัดการของเสีย