ความสำคัญ
BPP มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจตามหลักการบรรษัทภิบาลและจริยธรรมธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย BPP จึงใช้ความพยายามสูงสุดที่จะพัฒนากิจการให้เจริญเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดี ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักนิติธรรม มีความโปร่งใส ตั้งมั่นในความยุติธรรมและคุณธรรม ตามแนวทางการปฏิบัติงานตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกที่ดีเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ตลอดจนขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี
แนวทางการบริหารจัดการ
BPP กำหนดให้มีคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหา ทำหน้าที่กำหนดและทบทวนนโยบายบรรษัทภิบาลและคู่มือจริยธรรมธุรกิจ รวมถึงนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน เป็นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์โครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report: CGR) หลักเกณฑ์แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) Principles of Corporate Governance โดย The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) และเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนขององค์กรในระดับสากล เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย และสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังต่อไปนี้
- กำหนดนโยบายและทบทวนกระบวนการกำกับดูแลกิจกิจการ
- กำหนดวัตถุประสงค์ และแผนปฏิบัติการ
- นำนโยบายและแนวปฏิบัติไปปฏิบัติ
- ส่งเสริมแนวปฏิบัติในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของพนักงาน
- ติดตามผลการดำเนินงานตามเป้าหมายและการปรับปรุง โดยรายงานต่อคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหาทุกไตรมาส และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัททุก 6 เดือน
- ประเมินการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการทุกปี
นอกจากนี้ BPP จัดให้มีการอบรมและสื่อสารด้านบรรษัทภิบาลและการต่อต้านการคอร์รัปชันให้แก่ผู้บริหารและพนักงาน พร้อมทั้งจัดทดสอบความรู้ เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจต่อการดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี BPP ยังคงเดินหน้าต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบไม่ว่าทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านบุคคลที่สามมาโดยตลอด ผ่านนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในเรื่อง การให้-รับของขวัญ การเลี้ยง หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจด้วยความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ BPP ได้รับการต่ออายุเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 1 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี
ผลการดำเนินงาน
- การปรับปรุงนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยได้มีการยกระดับมาตรฐานของการจัดทำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลรวมทั้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) ซึ่งได้มีการเพิ่มคำนิยามให้มีความชัดเจน และการบังคับใช้นโยบายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสินบน การบริจาคเพื่อการกุศล เงินสนับสนุน การสนับสนุนทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ค่าอำนวยความสะดวก ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมไปถึงระบุความคุ้มครองแก่ผู้ที่ปฏิเสธการปฏิบัติที่นำไปสู่การคอร์รัปชัน ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมการยื่นต่ออายุเป็นสมาชิก CAC สมัยที่ 2 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2568
- ประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันและมาตรการการป้องกัน ประจำปี 2567 โดยได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงครอบคลุมทุกหน่วยธุรกิจในทุกประเทศที่บริษัทฯ เข้าไปลงทุน ทั้งในระดับบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน ตามหลักการประเมินโครงการ CAC ที่พิจารณาถึงโอกาส (Likelihood) และผลกระทบ (Impact) ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกันและลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว
- ไม่มีข้อร้องเรียนด้านบรรษัทภิบาลที่มีนัยสำคัญ
- ผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2567 ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับดีเลิศติดต่อกันเป็นปีที่ห้า (Excellence CG Scoring) จัดโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD)
- ได้รับคะแนนร้อยละ 100 จากการประเมินในหัวข้อ ติวเข้มให้เต็มร้อย โดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
- กำหนดให้ผู้บริหารและพนักงานแจ้งข้อมูลส่วนตัวและรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest Report)
นอกจากนี้ BPP ยังได้ปลูกฝังวัฒนธรรมการดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมโดยกำหนดให้เป็นหนึ่งในค่านิยมองค์กร และเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงานทุกคน จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักด้านจริยธรรมทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- อบรมด้านหลักจริยธรรมทางธุรกิจขององค์กรแก่พนักงานใหม่ครบ ร้อยละ 100
- การทดสอบความรู้ด้านบรรษัทภิบาลและจริยธรรมทางธุรกิจและผู้บริหาร พนักงานตอบรับนโยบายดังกล่าวครบร้อยละ 100
- ส่งเสริมความรู้และการปฏิบัติของพนักงานให้เป็นไปตามนโยบายบรรษัทภิบาลและคู่มือจริยธรรมธุรกิจผ่านระบบ E-learning และ E-testing บนแพลตฟอร์ม B–SUCCESS ของบริษัทฯ
- ผลสำรวจความเห็นของพนักงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรประจำปี 2567 ในคุณลักษณะมุ่งมั่นยืนหยัด (Committed) ซึ่งประกอบด้วยค่านิยม “ยึดมั่นในความถูกต้อง” (Adhere to Integrity and Ethics) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก
- ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามแนวปฏิบัติเรื่องการให้-รับของขวัญ การเลี้ยง หรือประโยชน์อื่นใด ตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (No Gift Policy) และสื่อสารนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทั่วทั้งองค์กรรวมถึงผู้ที่มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติจริง
- การจัดกิจกรรมสื่อสารภายในเรื่อง “CG Whistle Guard” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจในจริยธรรมธุรกิจ นโยบายการรับข้อร้องเรียนและการปกป้องผู้ร้องเรียน (Whistleblower Policy) เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันการละเมิดและไม่ปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดี ผลกระทบต่อองค์กรและพนักงาน และส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติตามนโยบายบรรษัทภิบาลและคู่มือจริยธรรมธุรกิจผ่านกิจกรรมส่งเสริมความเข้าใจและสร้างความตระหนัก ดังนี้
- การสื่อสารในรูปแบบ VDO Podcast ในทุกวันศุกร์ผ่านรายการ เรื่องเล่าเช้าวันศุกร์ เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานได้มีความตระหนักถึงหลักการกำกับดูกิจการที่ดี
- การสื่อสารในรูปแบบ Interactive E-mail เรื่อง “CG Whistle Guard” โดยนำเสนอข้อมูลนโยบายการรับข้อร้องเรียนและการปกป้องผู้ร้องเรียน (Whistleblower Policy)
- จัดกิจกรรม CG Day ในวันที่ 7 ตุลาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตระหนักรู้และสนับสนุนการปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาลของกลุ่มบริษัทบ้านปู จัดกิจกรรมภายในงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและมีความเข้าใจในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและ การบรรยายพิเศษเรื่อง “Anti-Corruption Reform for Effective Governance” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ต่อภัสสร์ ยมนาค เพื่อให้ความรู้ ข้อคิด และประสบการณ์แก่ผู้บริหารและพนักงานทั่วทั้งองค์กร
ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ
เอกสารดาวน์โหลด
นโยบายบรรษัทภิบาลและคู่มือจริยธรรมธุรกิจ
นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน