ความสำคัญ
การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นหลักการพื้นฐานที่บริษัทฯ ถือปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจและเป็นความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจากบริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจในหลายประเทศ ซึ่งมีกฎระเบียบที่แตกต่างและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน อาทิ กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งหากบริษัทฯ ไม่สามารถปรับตัวได้ทันย่อมจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายและข้อกำหนดในหลายด้านที่ต้องปฏิบัติอย่างครบถ้วน เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กฎหมายแรงงาน กฎหมายการค้าการลงทุน กฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งใบอนุญาตต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงการทำธุรกิจโดยยึดหลักจริยธรรมการดำเนินธุรกิจ เช่น การต่อต้านการคอร์รัปชัน การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ
แนวทางการบริหารจัดการ
เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินธุรกิจ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายว่าบริษัทฯ ดำเนินงานสอดคล้องตามกฎหมาย และข้อกำหนดภายนอก บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบภายใน (Internal Audit) และหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามกฎหมาย (Corporate Compliance) ขึ้นเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยแบ่งเป็นหน้าที่หลัก 2 ด้าน คือ
- หน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามกฎหมาย มีหน้าที่ส่งเสริม เฝ้าระวัง และตรวจสอบผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดภายนอก
- หน่วยงานตรวจสอบภายใน มีหน้าที่ตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน รวมถึงการปฏิบัติตามนโยบาย กฎระเบียบ และคู่มือการปฏิบัติงานภายในองค์กร
การตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน และการปฏิบัติตามนโยบายและกฎระเบียบภายในองค์กร
เพื่อให้การดำเนินงานของทุกหน่วยงานสอดคล้องกับนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ และคู่มือการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ บริษัทฯ จึงจัดให้มีการตรวจสอบผลการดำเนินงานและระบบการควบคุมภายในของหน่วยงานภายในองค์กรและบริษัทในเครืออย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวครอบคลุมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่สำคัญ โดยการตรวจสอบภายในของบริษัทฯ ดำเนินการตามกรอบแนวทางปฏิบัติด้านการควบคุมภายในสากลของ COSO (Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission) ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ด้าน ได้แก่ การควบคุมภายในองค์กร การประเมินความเสี่ยง การควบคุมการปฏิบัติงาน ระบบสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูล และระบบการติดตาม
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบภายในที่แยกเป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อทำหน้าที่สอบทานและให้ความมั่นใจว่าบริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ และมีการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเหมาะสม โดยรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท
การเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และแรงงานตามกฎหมาย
บริษัทฯ มีระบบในการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นตามที่กฎหมายกำหนดและมีการเฝ้าระวังแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายเพื่อจะได้มีการปรับตัวได้อย่างทันทีผ่านการติดตามโดยหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย (Corporate Compliance)ในส่วนกลางและโดยหน่วยงานภายในหน่วยธุรกิจต่าง ๆ โดบเป็นหนึ่งในข้อกำหนดของระบบการบริหารจัดการด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ผลการปฏิบัติงานในพื้นที่ยังได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอผ่าน
- การตรวจสอบภายในด้วยระบบการตรวจวัดของบริษัทฯ อาทิ การตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องแบบต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring: CEM) และระบบการตรวจวัดคุณภาพน้ำ เป็นต้น
- การตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอก อาทิ การตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศโดยหน่วยงานภายนอก การตรวจประเมินการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน เป็นต้น
การประกันคุณภาพโดยหน่วยงานภายใน (Quality Assurance Review: QAR)
บริษัทฯ ร่วมกับกลุ่มบ้านปูได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานสนับสนุน ภายใต้การดูแลของสายงานบริหารและพัฒนาองค์กร ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายอาชีวอนามัย ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของชุมชน ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายนิติการ ฝ่ายบริหารงานจัดซื้อและธุรการ และฝ่าย Business Process Management ดำเนินการสอบทานคุณภาพของการดำเนินงานและความสอดคล้องของกฎหมาย โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน QAR จากสำนักงานกรุงเทพฯ เข้าไปสอบทานผลการดำเนินงานในบริษัทย่อยในแต่ละประเทศ คณะทำงาน QAR ของบริษัทย่อย จะเข้าไปดำเนินการสอบทานในหน่วยธุรกิจทุกหน่วยที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น ๆ เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยในปี 2563 ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงการตรวจประเมินระยะไกลในรูปแบบการตรวจสอบด้วยตนเอง และสัมภาษณ์ รวมถึงการตรวจสอบหลักฐานทางไกล ซึ่งถูกนำมาใช้ในภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
บริษัทฯ มีเกณฑ์มาตรฐานในสอบทานคุณภาพด้านการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ โดยครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่
การตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรเทียบกับมาตรฐานสากลโดยหน่วยงานภายนอก
บริษัทฯ ได้นำมาตรฐานสากลมาประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยนำระบบมาตรฐานการดำเนินงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาใช้ในการบริหารงานในหน่วยธุรกิจ ให้เกิดการควบคุมภายในและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพ (ISO 9001) มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) และมาตรฐานการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (ISO 22301) และระบบมาตรฐานการจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISO 27001) ซึ่งการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานในระบบดังกล่าว
การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายในบริษัทร่วมทุน
เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีอำนาจบริหารจัดการโดยตรงในบริษัทร่วมทุน บริษัทฯ จึงร่วมมือกับกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมลงทุนในธุรกิจนั้น ๆ ในการตรวจสอบการดำเนินงานตามกฎหมายและการบริหารจัดการภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อีกทั้งกำหนดให้มีการตรวจสอบผ่านการรายงานความเสี่ยงซึ่งครอบคลุมการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายในคู่ค้าสำคัญ
บริษัทฯ มีการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของคู่ค้าที่ให้จำหน่ายสินค้าและบริการที่สำคัญแก่บริษัทฯ อาทิ ผู้รับเหมาซ่อมบำรุงและปฏิบัติการ ผู้รับเหมาด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง โดยกำหนดไว้ในเงื่อนไขการคัดเลือกและว่าจ้าง มีตรวจสอบขณะปฏิบัติงานและหากพบข้อบกพร่อง จะร่วมกับคู่ค้าในการวางดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดี โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานระบบการจัดการของบริษัทฯ
ผลการดำเนินการ
- ดำเนินการตามระบบการตรวจสอบภายในและการกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามกฎหมายครอบคลุมทุกหน่วยธุรกิจที่บริษัทฯ มีอำนาจในการบริหารจัดการ
- ตรวจสอบการดำเนินงานภายในและการปฏิบัติตามกฎหมายในบริษัทร่วมทุน รวมถึงติดตามการแก้ไขข้อบกพร่องให้เป็นไปตามมาตรฐานร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ
- ไม่มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีนัยสำคัญทั้งใน ธุรกิจที่บริษัทฯ มีอำนาจในการบริหารจัดการตรง บริษัทร่วมทุน และคู่ค้าที่ดำเนินงานในพื้นที่บริษัทฯ
ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ