บริษัทฯ มีการดำเนินโครงการนวัตกรรมโดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพและเสถียรภาพในระยะยาว โดยในปีที่ผ่านมาพบว่า การดำเนินงานด้านการปรับปรุงกระบวนการผลิตและนวัตกรรม ส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยตรงมีดัชนีความพร้อม และดัชนีหยุดซ่อมฉุกเฉินเป็นไปตามเป้าหมาย สามารถดำเนินการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพตามเป้าหมาย อาทิ
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง
- โครงการอนุรักษ์พลังงานความร้อนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
- โครงการจัดการน้ำอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างครบวงจร
- โครงการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเผาร่วมกับถ่านหิน (Biomass Co-Firing)
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนนาน
- โครงการนำความร้อนที่เหลือจากก๊าซเสียมาใช้ประโยชน์ (Waste heat recovery by utilizing de-white facility)
- โครงการ Digital Twins เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดมลสารในอากาศ
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโจวผิง
- โครงการปรับปรุงระบบกำจัดตะกรันหม้อไอน้ำ
- โครงการนำความร้อนที่เหลือจากก๊าซเสียเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหม้อไอน้ำ
โรงไฟฟ้า Temple
- โครงการเพิ่มความพร้อมในการผลิต
โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี
- โครงการดักจับคาร์บอนจากโรงไฟฟ้าด้วยกระบวนการทางชีวภาพโดยการใช้สาหร่าย (Bio-Carbon Capture by Algae)
- โครงการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Smart Approaches to Energy Saving)
โรงไฟฟ้าเอชพีซี
- โครงการซอฟต์แวร์ตรวจสอบและแจ้งเตือนการรั่วไหลของท่อในหม้อไอน้ำ (ALMA: Advanced Leakage Monitoring and Alerting Software)
- โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของหม้อไอน้ำ
โรงไฟฟ้าเอชพีซีได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2562 โดยพบว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพคือการเสื่อมสภาพของแผงระบายความร้อนและหัวฉีดกระจายน้ำ ซึ่งส่งผลให้หอระบายความร้อนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
หลังจากการศึกษาและออกแบบแผงระบายความร้อนและหัวฉีดใหม่ที่มีคุณสมบัติทนต่อแสงอัลตราไวโอเลต เพิ่มพื้นที่แลกเปลี่ยนความร้อน และทนต่อการกัดกร่อน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าเอชพีซีมีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้ถ่านหิน 440,000 ตันต่อปี หรือช่วยประหยัดต้นทุนได้ราว 3.87 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
โรงไฟฟ้าเอชพีซีได้ใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบและแจ้งเตือนการรั่วไหลของท่อในหม้อไอน้ำตั้งแต่ปี 2565 ได้จัดการอบรมพนักงานฝ่ายผลิตให้มีความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบความผิดปกติของโรงไฟฟ้าเมื่อเกิดการรั่วไหลของท่อในหม้อไอน้ำ เพื่อให้สามารถใช้งานซอฟต์แวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ALMA เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลในส่วนปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการตรวจจับการรั่วไหลของท่อในหม้อไอน้ำ ทำให้สามารถรับรู้สัญญาณการรั่วไหลได้ล่วงหน้า 3-5 วัน โดยพัฒนาโมเดลขึ้นจากข้อมูลสถิติของเครื่องจักร และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สัญญาณเสียง ปริมาณน้ำที่เติมเข้าไปในระบบ เป็นต้น แล้วส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังพนักงานฝ่ายผลิต ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถตัดสินใจวางแผนล่วงหน้าในการซ่อมบำรุง และลดการสูญเสียจากค่าปรับเนื่องจากโรงไฟฟ้าแจ้งหยุดการผลิตนอกแผนกระชั้นชิด
โดยในปี 2567 ALMA ช่วยแจ้งเตือนล่วงหน้าถึงความผิดปกติ ทำให้สามารถลดค่าปรับจากการผิดสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าได้ราว 25 ล้านบาท
นอกจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตและนวัตกรรมแล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่อนาคต พร้อมพัฒนาระบบการป้องกันความเสี่ยงด้านไซเบอร์ของโรงไฟฟ้า ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) และเทคโนโลยีปฏิบัติการ (Operational Technology: OT) เนื่องจากธุรกิจไฟฟ้ามีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงในพื้นที่ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายในการโจมตีหรือการคุกคามทางไซเบอร์ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจประเมินความเสี่ยง ทดสอบความปลอดภัย และกำหนดมาตรการป้องกันให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ และกำหนดให้มี Global Information Security Officer (GISO) ให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบครอบคลุมทั้งกลุ่มบ้านปู ในการกำกับดูแล ความปลอดภัยของข้อมูล (information security) ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (digital technology risk) และการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยในปีที่ผ่านมา มีการดำเนินงานที่สำคัญดังนี้
- ประเมินด้านความปลอดภัยสารสนเทศและความเสี่ยงประจำปี 2567 โดยบริษัทที่ปรึกษาภายนอก ได้คะแนนรวม 4.0 (จากคะแนนเต็ม 5) โดยเพิ่มจาก 3+ ในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงมาตรการป้องกันความเสี่ยงด้านไซเบอร์จากการดำเนินงานของคู่ค้า (Third-party risk) ให้รัดกุมมากขึ้น
- ฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อทดสอบแผนการรับมือกรณีมีการรั่วไหลของข้อมูลทางธุรกิจและข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
-
- ทดสอบแผนรับมือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องและแผนการรั่วไหลข้อมูลทางธุรกิจและข้อมูลส่วนบุคคล
- ทบทวนและทำความเข้าใจกับแนวคิด บทบาท และความรับผิดชอบของพนักงานที่เกี่ยวข้อง
- ตรวจสอบประสิทธิภาพของการสื่อสารภายใน
- ปรับปรุงวิธีการกู้คืนระบบให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและเทคโนโลยีในปัจจุบันเพื่อลดเวลาการกู้คืน (Recovery Time Objective: RTO) ให้ต่ำลง
- เริ่มนำระบบมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO 27001 ฉบับปี 2565 มาช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการจัดการความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ลดความเสี่ยง และปกป้องข้อมูลจากการถูกโจรกรรม ในสำนักงานกรุงเทพและปักกิ่ง
การกำกับดูแลความปลอดภัยไซเบอร์และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงยกระดับการกำกับดูแลใน 3 เรื่องสำคัญดังนี้
- การออกนโยบายกำกับดูแลการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในบริษัทโดยยึดหลักเจตนารมณ์การใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible use of AI)
- การกำกับดูแลแบบบูรณาการ (Unify) ให้ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT), เทคโนโลยีปฏิบัติการ(Operational Technology: OT), และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Technology)
- การนำมาตรฐานสากลเข้ามาใช้ในการกำกับดูแล ได้แก่ ISO 42001:2023 AI Management System (AIMS) สำหรับระบบการจัดการปัญญาประดิษฐ์ และ ISO 27001:2022 Information Security Management System (ISMS) สำหรับการจัดการความปลอดภัยของข้อมูล
ในปี 2567 บริษัทฯ ดำเนินการด้วยแผนงานสำคัญใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

จากแผนงานดังกล่าว BPP ได้รับคะแนนการประเมินด้านความปลอดภัยสารสนเทศประจำปี 2567 โดยรวม 4.0 (จากคะแนนเต็ม 5) โดยเพิ่มจาก ระดับ 3+ ในปี 2566
กลุ่มบ้านปูดำเนินโครงการ Self-Hacking by White Hackers หรือ Bug Bounty ตั้งแต่ปี 2565 ปัจจุบันโครงการดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และยังคงไว้ซึ่งความยืดหยุ่นของบริการดิจิทัลสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยโครงการนี้ทำงานร่วมกับกลุ่มแฮกเกอร์ที่ทำงานอย่างมีจริยธรรม (Ethical Hackers) ในการประเมินช่องโหว่ด้านความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้กฎการปฏิบัติงานที่เข้มงวดและข้อตกลงการรักษาความลับที่เคร่งครัด สำหรับการประเมินช่องโหว่ของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในโครงการนี้จะครอบคลุมกลุ่มบริษัทในประเทศออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย ไทย และสหรัฐอเมริกา เพื่อต้องการบรรลุเป้าหมายสำคัญ 3 ข้อดังนี้
- การประเมินช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่มาจากการใช้จากบุคคลภายนอก
- ค้นหาและเฝ้าระวังแบบต่อเนื่องเพื่อให้ปิดความเสี่ยงได้ทันเวลา
- มีความพร้อมสำหรับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ในกลุ่มบริษัท

ผลจากการดำเนินโครงการนี้จะนำไปใช้ในปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนใน 3 ส่วนคือ
- การควบคุมคุณภาพ (Quality Assurance) ของการพัฒนาระบบดิจิทัล
- การบริหารความเสี่ยงจากบุคคลภายนอก (Third-Party Risk Management: TPRM)
- การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Asset Management: ITAM) ที่ใช้งานอยู่