ความสำคัญ
การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและไม่สามารถคาดการณ์ได้ทั้งจากภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว โรคระบาด และจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การก่อการร้าย การโจมตีทางไซเบอร์ การชุมนุมประท้วง การเกิดเพลิงไหม้ การหกรั่วไหลของสารเคมี เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการตอบสนองและฟื้นคืนการดำเนินงานในภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลารวดเร็ว และการสื่อสารที่เหมาะสมเพียงพอ จะช่วยลดความสูญเสียของบริษัทฯ อีกทั้งทำให้บริษัทฯ สามารถกลับมาดำเนินงานตามปกติได้ในระยะเวลาอันสั้น ช่วยลดผลกระทบและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย
แนวทางการบริหารจัดการ
บ้านปู เพาเวอร์ จัดทำระบบบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจโดยอ้างอิงหลักการและข้อกำหนดของมาตรฐานสากล ISO 22301 ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการระบุกระบวนการทำงานที่สำคัญ การวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจและการประเมินความเสี่ยง ตลอดจนจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจและการฝึกซ้อม โดยเป้าหมายหลักของการดำเนินงานคือ
- Response ดำเนินการตอบสนองต่อเหตุการณ์และป้องกันความเสียหายลุกลามได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อสารข้อมูลต่อภายในและภายนอกอย่างเหมาะสม
- Recover สามารถฟื้นคืนกิจกรรมหลักที่จำเป็น เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการต่างๆ ในระยะเวลารวดเร็ว และผู้มีส่วนได้เสียยอมรับได้
- Restore การฟื้นคืนกิจกรรมทั้งหมดของบริษัทฯ ในระยะเวลารวดเร็ว ที่ผู้มีส่วนได้เสียยอมรับได้
ในการดำเนินการด้านความต่อเนื่องของธุรกิจไฟฟ้ามีความท้าทายที่สำคัญ คือกรณีที่เกิดความเสียหายในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เวลานานในการฟื้นคืนกิจกรรมทั้งหมด บ้านปู เพาเวอร์ จึงให้ความสำคัญกับลงทุนในการบริหารความเสี่ยง ป้องกันและควบคุมผลกระทบจากความรุนแรงของอุบัติการณ์ รวมถึงกำหนดช่องทางการสื่อสารสู่สาธารณะอย่างเหมาะสมและทันเวลา
การบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับการผนวกภายใต้การดูแลและบริหารจัดการของกลุ่มบ้านปู โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบ้านปู เพาเวอร์ เป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารการจัดการภาวะวิกฤติ (Crisis Management Team) และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สั่งการและให้ข้อมูลแก่สาธารณะในกรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤติในธุรกิจไฟฟ้า การทำงานในลักษณะผสานกันเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ จึงเป็นการประหยัดทรัพยากรในการดำเนินงานและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
ในการฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ บริษัทฯ กำหนดให้มีการฝึกซ้อมในระดับประเทศและระดับองค์กรทุกปีอย่างสม่ำเสมอ โดยจะดำเนินการสลับกัน รวมทั้งมีการเฝ้าระวังและทบทวนประสิทธิภาพการดำเนินงานของระบบผ่านการตรวจติดตามภายในและการทบทวนของฝ่ายบริหารเป็นประจำทุกปี และสนับสนุนให้แต่ละหน่วยธุรกิจแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการตอบสนองต่อภัยคุกคามต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ
บ้านปู เน็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในกลุ่มบ้านปูนั้น ได้ถูกรวมอยู่ในโครงสร้างการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู ส่วนโรงไฟฟ้าที่เป็นบริษัทร่วมทุนของบ้านปู เพาเวอร์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและ โรงไฟฟ้าเอชพีซี การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจของบริษัทร่วมทุนจึงไม่ได้รวมอยู่ในโครงสร้างนี้เนื่องจากบริษัทฯ มีการกำกับดูแลผ่านคณะกรรมการในบริษัทนั้นๆ ซึ่งบริษัทฯ ได้กำหนดเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงาน เพื่อรายงานข้อมูลและสถานการณ์ปัจจุบันสำหรับเตรียมการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับบ้านปู เพาเวอร์ ในฐานะบริษัทร่วมทุน อีกทั้งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งได้มีการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจเป็นของตนเองและดำเนินการฝึกซ้อมทุกปี
ผลการดำเนินงาน
ในปี 2567 บ้านปู เพาเวอร์ สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีหน่วยธุรกิจใดต้องหยุดชะงัก ซึ่งเป็นผลมาจากการนำระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจมาใช้เป็นระยะเวลานาน การเตรียมความพร้อมด้วยการฝึกซ้อมและปรับปรุงแผนความต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ มีการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่
- สัดส่วนหน่วยธุรกิจที่มีการฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับองค์กรและระดับประเทศ ร้อยละ 100
- สัดส่วนหน่วยธุรกิจที่สำคัญที่มีการฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ ร้อยละ 83.33
- ทีมสื่อสารในภาวะวิกฤติของบ้านปู เพาเวอร์ ได้ฝึกซ้อมการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ณ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ
- ฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับประเทศที่สำนักงานใหญ่ในไทยและสำนักงานในจีน ซึ่งครอบคลุมกระบวนการจัดการตามแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจและข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO22301
ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ
เอกสารดาวน์โหลด
นโยบายความต่อเนื่องทางธุรกิจ