By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ความสำคัญ

ความปลอดภัยในการทำงานเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินงาน เนื่องจากการดำเนินงานที่ไม่ปลอดภัย อาจก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงอาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของพนักงาน ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในเชิงรุกจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย กำหนดมาตรการป้องกันที่ชัดเจน การตรวจสอบผลการดำเนินงาน การส่งเสริมความรู้ สร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมจากพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน 

สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่พนักงาน ผู้รับเหมา และผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ทำงานพึงจะได้รับอย่างเพียงพอและเท่าเทียมกัน อีกทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้พนักงานได้นำเสนอข้อคิดเห็นในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน จะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม สร้างขวัญกำลังใจ และความผูกพันต่อองค์กรอีกด้วย 

 

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทฯ มุ่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กรโดยกำหนดเป้าหมาย 3 ประการ ( 3 ZEROs) ได้แก่

ในการดำเนินงานเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย BPP มีแนวทางการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย ดังนี้ 

  • ความรับผิดชอบและหน้าที่ในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ผู้บริหารตั้งแต่ระดับสูงสุดจนถึงผู้บริหารที่อยู่หน้างาน มีคำมั่นสัญญาและความรับผิดชอบในการสร้างความปลอดภัยในการทำงาน ตั้งแต่การออกแบบก่อสร้างจนถึงช่วงการปฏิบัติงาน ป้องกันแก้ไขสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย พฤติกรรมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย กำหนดเป้าหมายการพัฒนาด้านความปลอดภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แสดงถึงความเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีด้านความปลอดภัย นอกจากนี้พนักงานทุกคนมีหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยซึ่งกันและกัน โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานทั้งในผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานในระดับปฏิบัติการ 
  • ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของบริษัทฯ BPP มีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานการดำเนินงานที่ดีด้านความปลอดภัย มีการตรวจสอบความสอดคล้องตามกฎหมายและกฎด้านความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ โดยได้นำมาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาใช้ในทุกหน่วยการผลิต 
  • จัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย BPP ประเมินความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในทุกงาน โดยทุกหน่วยปฏิบัติงานจัดให้มีการป้องกันและลดความเสี่ยงอย่างเหมาะสม สำหรับงานที่มีความเสี่ยงในระดับความรุนแรงและความน่าจะเป็นสูง จะต้องมีแผนงานเพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้โดยทันที 
  • สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย BPP ส่งเสริมและให้คุณค่ากับการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในทุกพื้นที่ทั้งพนักงานและผู้รับเหมา ยกย่องการมีพฤติกรรมการทำงานที่ปลอดภัย มีการผสานเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรในการเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน กล้าที่จะตักเตือนหากเห็นการทำงานที่ไม่ปลอดภัย 
  • ส่งเสริมให้พนักงานความรู้ความชำนาญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างพอเพียง BPP สนับสนุนการให้ความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานรวมถึงผู้รับเหมามีความรู้ความสามารถเพียงพอในการทำงานอย่างปลอดภัย และมีการตรวจสอบ ทบทวนความรู้ความเข้าใจอย่างสม่ำเสมอ 
  • นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย BPP ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงานด้านความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น เช่น การตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการรายงานความเสี่ยงด้านความปลอดภัย 

BPP บันทึกสถิติด้านความปลอดภัยโดยครอบคลุมผู้ปฏิบัติงาน (Worker) ทุกคนที่อยู่ในขอบข่ายการควบคุมงาน (Control work) และการควบคุมพื้นที่ (Control workplace) ได้แก่ พนักงาน ผู้รับเหมา และบุคคลที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าพื้นที่ ส่วนผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการควบคุมงานหรือการควบคุมพื้นที่นั้น จะบันทึกเป็นรายงานการเกิดอุบัติเหตุแต่ไม่นำมารวมในการคำนวณสถิติอุบัติเหตุ 

 

ผลการดำเนินงาน

  • ไม่มี ผู้เสียชีวิตจากการทำงาน
  • อัตราความถี่ของการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงานเป็นศูนย์

 

ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ

กิจกรรมการส่งเสริมด้านความปลอดภัยในการทำงาน

บริษัทฯ จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมด้านความปลอดภัยในการทำงาน เช่น

  • ตรวจประเมินระดับวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน 
  • ฝึกอบรมและทดสอบเกี่ยวกับความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม กฎความปลอดภัยและความเสี่ยงในพื้นที่ก่อนเข้าปฏิบัติงานและทบทวนตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด 
  • ส่งเสริมความปลอดภัยและตรวจสอบสถานที่ปฏิบัติงานโดยผู้บริหารบริหารระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ 
  • ตรวจสอบด้านความปลอดภัยโดยพนักงาน หัวหน้างาน และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในระหว่างปฏิบัติงาน 
  • ตรวจวัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้มีความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ และรายงานผลเพื่อการปรับปรุง 
  • จัดตั้งคณะกรรมการปรับปรุงด้านความปลอดภัยในสำนักงานและโรงไฟฟ้า 
  • สื่อสารเพื่อให้เกิดความตระหนักด้านความปลอดภัยผ่านทางกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมวันความปลอดภัย อีเมลประชาสัมพันธ์ เกมส์ โปสเตอร์ เป็นต้น 
  • ฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินโดยจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ และนำผลการฝึกซ้อมไปปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ 
  • จัดกิจกรรมวันความปลอดภัยเพื่อสื่อสารเป้าหมายด้านความปลอดภัยและสร้างความตระหนักให้แก่พนักงาน คู่ค้า และผู้รับเหมา 
  • สร้างแรงจูงใจเพื่อทำให้เกิดการทำงานที่มีความปลอดภัย เช่น รางวัลพิเศษแก่ผู้ที่เป็นตัวอย่างที่ดีด้านความปลอดภัย ผ่านการร่วมรายงานความเสี่ยงด้วยแอปพลิเคชัน SOS และการฉลองความสำเร็จร่วมกัน 

 

การส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน

บริษัทฯ จัดให้มีการส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน เช่น

  • ตรวจสุขภาพพนักงานประจำปี และตรวจวัดสมรรถภาพร่างกายตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากลักษณะการทำงาน 
  • ตรวจวัดสภาพแวดล้อมการทำงาน ทั้งในสำนักงานและหน่วยการผลิต และปรับปรุงให้อยู่ในมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ 
  • จัดทำประกันสุขภาพเพื่อการรักษาและประสานงานในการจัดหาวัคซีนให้กับพนักงาน เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคโควิค-19 
  • ส่งเสริมการออกกำลังกายและการรักษาสุขภาพ เช่น การจัดตั้งชมรมกีฬา การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงจัดให้มีเทรนเนอร์ด้านการออกกำลังกายเป็นรายบุคคลสำหรับพนักงานที่สนใจ 
  • จัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาระหว่างพนักงานและผู้รับเหมา  
  • โครงการที่ปรึกษาด้านจิตวิทยา iSTRONG โดยผู้ให้บริการด้านจิตวิทยาภายนอก เพื่อให้พนักงานสามารถปรึกษาด้านจิตวิทยาเพื่อลดความเครียด ทั้งด้านชีวิตส่วนตัวและการทำงาน โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับ 
  • โครงการพบแพทย์ด้วยระบบออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน Health at Work โดยพนักงานสามารถนัดหมาย และพบแพทย์เบื้องต้นทางออนไลน์ จากนั้นแพทย์จะสั่งจ่ายยาแล้วส่งให้กับพนักงาน 
  • บริการห้องพยาบาลและปฐมพยาบาล ให้บริการโดยพยาบาลวิชาชีพ โดยสามารถวินิจฉัยโรคเบื้องต้น จ่ายยา ทำแผล ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ 
  • โครงการ Flexible Benefit สนับสนุนงบประมาณปีละ 12,000 บาท ให้กับพนักงานเพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ร่วมถึงเพื่อสุขภาพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาเพิ่มเติม ค่าสมาชิกสปอร์ตคลับและ อุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานอย่างถูกหลักกายศาสตร์จากการทำงานที่บ้าน เป็นต้น 

 

ระบบตรวจสอบและควบคุมอัจฉริยะสถานีแลกเปลี่ยนความร้อน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง

โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง ตั้งอยู่ในเมืองฉือเจียจวง เขตเจิ้งติ้ง มณฑลเหอเป่ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 139 เมกะวัตต์ ผลิตความร้อนราวปีละ 10 ล้านจิกะจูลให้กับผู้ใช้ในเขตเจิ้งติ้ง ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 58,000 ราย และภาคอุตสาหกรรม การค้าและอื่น ๆ มากกว่า 180 ราย โดยเป็นโรงไฟฟ้าโรงเดียวที่ผลิตความร้อนเข้าสู่ระบบทำความร้อนแบบรวมศูนย์ (Centralized heating system) ในพื้นที่ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประชาชนในช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิกลางแจ้งเฉลี่ยราว 0.3 องศาเซลเซียส

โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้ง ได้ดำเนินการเพื่อสร้างเสถียรภาพในการส่งความร้อนและปรับปรุงด้านความปลอดภัย โดยการติดตั้งอุปกรณ์และสร้างระบบตรวจสอบแบบเรียลไทม์จากระยะไกลที่ใช้กับสถานีแลกเปลี่ยนความร้อน เพื่อแทนที่การเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่โดยพนักงาน ลดความเสี่ยงและเวลาในการปฏิบัติงานจากการเข้าไปในพื้นที่สถานีแลกเปลี่ยนความร้อน อีกทั้งยังทำให้ตรวจสอบความผิดปกติได้อย่างรวดเร็วทำให้สามารถแก้ไขได้ทันที เพิ่มเสถียรภาพในการจ่ายความร้อนของโรงไฟฟ้า

การติดตั้งอุปกรณ์การตรวจสอบและควบคุมความร้อนอัจฉริยะได้แก่ ดังนี้

  • การตรวจสอบด้วยกล้องวิดีโอจากระยะไกล
  • ควบคุมและปรับความถี่การหมุนเวียนของเครื่องสูบน้ำจากระยะไกล
  • ควบคุมและปรับอัตราการไหลของไอน้ำและน้ำร้อนจากระยะไกลในสถานีแลกเปลี่ยนความร้อน
  • ระบบเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความดันและอุณหภูมิจากอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ เช่น เครื่องสูบน้ำ วาล์วปรับความดัน ถังเก็บน้ำ เป็นต้น

จากการดำเนินโครงการ ทำให้โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งสามารถลดจำนวนพนักงานที่เข้าไปตรวจสอบสถานีแลกเปลี่ยนความร้อนจาก 200 คน เหลือเพียง 40 คน ลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของพนักงานจากการต้องสัมผัสกับเสียงและความร้อน และสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าได้ราว 18.4% หรือ 864,000 หยวน/ ปี โดยเมื่อประเมินผลโครงการด้านความปลอดภัยด้วยเครื่องมือวัดผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) แล้ว โครงการนี้สร้างมูลค่าราว 5.67 ล้านหยวน

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งยังยกระดับอุปกรณ์ทำความร้อนให้สามารถผลิตความร้อนได้ตามการขยายตัวของประชากรในเขตเจิ้งติ้ง ตลอดจนปรับปรุงการตรวจสอบอุปกรณ์ จัดทำและซ้อมแผนฉุกเฉิน รวมถึงได้รับการรับรองระบบมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) อย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงไฟฟ้าดำเนินงานอย่างมีเสถียรภาพและความปลอดภัย ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงาน สามารถรักษาค่าดัชนีความพร้อมจ่ายได้ในระดับสูงคือ ร้อยละ 94.04 และได้รับรางวัล Advanced Unit of Central Heating จากภาครัฐ

 

โครงการจัดทำแอปพลิเคชัน Double Control เพื่อใช้ในการเข้าทำงานซ่อมบำรุงด้วยความปลอดภัยในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนหนาน

โดยปกติโรงไฟฟ้าจะต้องมีการวางแผนซ่อมบำรุงเพื่อให้เครื่องจักรสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายซ่อมบำรุงจะดำเนินการโดยต้องจัดทำเอกสารระบุรายละเอียดในการทำงาน บุคคลที่เข้าทำงานในพื้นที่ ระยะเวลาในการดำเนินงาน และการประเมินความเสี่ยงเพื่อให้ฝ่ายผลิตพิจารณาและตัดระบบการทำงานบางส่วนเพื่อการดำเนินงานที่ปลอดภัยของฝ่ายซ่อมบำรุง โดยเอกสารดังกล่าวมีเป็นจำนวนมาก ต้องมีการส่งไปยังแผนกต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบ เช่นฝ่ายผลิต และฝ่ายความปลอดภัย เป็นต้น ทำให้มีการสูญหายในระหว่างการดำเนินงาน และต้องใช้งานร่วมกันหลายฝ่าย ทำให้ไม่มีความสะดวก และยากในการเข้าถึงข้อมูลความเสี่ยงในการทำงานซ่อมแต่ละครั้ง หรือหากเอกสารสูญหายจะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบย้อน

โรงไฟฟ้าหลวนหนานจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Double Control ขึ้น เพื่อใช้ทดแทนการดำเนินงานด้านเอกสารทั้งหมดในรูปแบบดิจิทัล ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการสร้างเอกสารเพื่อขออนุมัติ ให้การอนุมัติ ตรวจสอบข้อมูลพร้อมกัน และป้องกันเอกสารสูญหาย ทำให้การดำเนินงานซ่อมเป็นไปด้วยความราบรื่น มีความปลอดภัยในการทำงาน โดยสามารถประหยัดเวลาได้ราวร้อยละ 50 โดยเมื่อมีการประเมินผลโครงการด้านความปลอดภัยด้วยเครื่องมือวัดผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI)แล้ว คิดเป็นมูลค่าราว 104,800 หยวน โดยประเมินมูลค่าจากการประหยัดเวลา การเพิ่มความรู้ให้กับพนักงาน เก็บเอกสารเพื่อการตรวจสอบย้อนหลังตามกฎหมาย และความปลอดภัยที่เกิดขึ้นจากการใช้แอปพลิเคชัน โดยยังไม่รวมมูลค่าจากการขยายผลไปยังโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ของบริษัท

ในปีที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าหลวนหนานไม่มีอุบัติเหตุรายแรงในการทำงาน ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) อย่างต่อเนื่อง และได้รับการคัดเลือกให้เป็นสถานประกอบการที่มีการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยดีเด่น (Occupational Health Enterprises) และรางวัลด้านการจัดการด้านแรงงานดีเด่น (Prefectural workers’ vanguard) จากภาครัฐ

 

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความปลอดภัยในกิจกรรมที่มีความเสี่ยง 

กิจกรรมที่มีความเสี่ยงในการดำเนินการผลิตและการบำรุงรักษา เช่น การตรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยง การปฏิบัติงานกับไฟฟ้าแรงสูง และกระบวนการเริ่ม/หยุด การทำงานของหม้อไอน้ำและกังหันไอน้ำในโรงไฟฟ้า เป็นต้น เป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่ต้องมีการป้องกันอย่างเข้มงวดเนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลกระทบสูงต่อผู้ปฎิบัติงานและการดำเนินงานของบริษัทฯ   

เพื่อมั่นใจว่าการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงเป็นไปด้วยความถูกต้องและปลอดภัย โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในจีนทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าหลวนหนาน เจิ้งติ้ง และโจวผิง ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาอุปกรณ์และระบบการเฝ้าระวังขณะปฏิบัติงาน ประกอบด้วย  

  1. หมวกนิรภัยอัจฉริยะ (Smart Helmet) เป็นหมวกนิรภัยที่มีการติดตั้งกล้องช่วยให้ผู้ควบคุมงานสามารถตรวจสอบ เฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานได้จากระยะไกล ผู้ควบคุมงานสามารถสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานได้โดยตรงผ่านหมวกอัจริยะและแจ้งเตือนได้ทันทีหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือไม่เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน  โดยในปี 2567 อุปกรณ์นี้สามารถตรวจสอบและแก้ไขการปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัยได้ 144 รายการ 
  2. ระบบเฝ้าระวังด้วยกล้องเคลื่อนย้ายได้ (Removable Camera Monitoring System) เป็นอุปกรณ์กล้องถ่ายทอดสด บันทึกและตรวจสอบการทำงานของผู้ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติงานและปลอดภัย โดยหัวหน้างานและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยสามารถติดตามการปฏิบัติงานของพนักงานและผู้รับเหมาได้ตลอดเวลาผ่านอุปกรณ์ดังกล่าว ในปี 2567 ระบบเฝ้าระวังด้วยกล้องเคลื่อนย้ายได้ สามารถตวรจสอบการปฏิบัติงานได้ 161 รายการ โดยตรวจพบและแก้ไขการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยได้ 22 รายการ 

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับความปลอดภัยในโรงไฟฟ้า เป็นการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อบรรลุเป้าหมาย “อันตรายเป็นศูนย์”  โดยการเฝ้าระวัง สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ดำเนินงานในปี 2567 โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สามารถดำเนินงานด้วยความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรงจากการทำงาน  อัตราการเสียชีวิตจากการทำงาน และอัตราความถี่ของการบาดเจ็บจากการทำงานถึงขั้นหยุดงานของพนักงานและผู้รับเหมาเป็นศูนย์ 

 

การประเมินระดับความเป็นเลิศด้านความปลอดภัย 

ตั้งแต่ปี 2561 BPP ดำเนินโครงการประเมินระดับความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แบบสำรวจตามแบบจำลอง Safety Maturity Level ของ The UK Health and Safety Executive (UK HSE) ซึ่งจัดเป็น 5 ระดับ ดังนี้ 

infographic ระดับความเป็นเลิศด้านความปลอดภัย (อาจทำเป็นขั้นบันไดหรือทางเดิน จาก 1-5) 

  • ระดับ 1: เริ่มต้น (Emerging)  
  • ระดับ 2: บริหารจัดการ (Managing)  
  • ระดับ 3: มีส่วนร่วม (Involving)  
  • ระดับ 4: ร่วมมือ (Cooperating)  
  • ระดับ 5: ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continually Improving)  

ประเมินระดับความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยของบริษัทฯ  โดยใช้ผลสำรวจการรับรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงานร่วมกับการประเมินสภาพแวดล้อมและการปฏิบัติงานในพื้นที่ แล้วนำมาจัดทำแผนการปรับปรุงด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง 

การประเมินระดับความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยจะจัดขึ้นทุกปีหมุนเวียนไป โดยแต่ละโรงไฟฟ้าจะได้รับการประเมินอย่างน้อยทุก 3 ปี ในปี 2567 บริษัทฯ ได้ประเมินระดับความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่งในจีน ได้แก่ โรงไฟฟ้าจินซาน ฮุ่ยเหนิง และฮุ่ยเอิน ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีผลการประเมินอยู่ในระดับที่ 3 มีส่วนร่วม (Involving)  

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในจีนได้รับการประเมินครบทุกแห่งแล้วได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 3 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 7 แห่ง  ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า 3 แห่ง มีผลการประเมินอยู่ในระดับที่ 4 ร่วมมือ (Cooperating) และโรงไฟฟ้า 7 แห่ง มีผลการประเมินอยู่ในระดับที่ 3 มีส่วนร่วม (Involving) ซึ่งผลของการประเมินในแต่ละพื้นที่ ได้ถูกนำมาจัดทำแผนการพัฒนาการดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยจำนวนทั้งสิ้น 12 โครงการ  

 

เอกสารดาวน์โหลด

นโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

© 2025 Banpu Power Public Company Limited | บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน). All rights reserved.