By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
บ้านปู เพาเวอร์ฯ รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2561

บ้านปู เพาเวอร์ฯ รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2561

  • ชูศักยภาพการแข่งขันด้วยการบริหารพอร์ตการลงทุนที่สมดุลระหว่างผลตอบแทนที่ดีและกระแสเงินสดที่คล่องตัว
  • การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและหงสา มีความเสถียรและมีประสิทธิภาพด้วย EAF ที่ 100% และ 92% ตามลำดับ สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ
  • ส่วนขยายโรงไฟฟ้าหลวนหนานในจีนเริ่มเดินเครื่อง ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 3 แห่งในประเทศญี่ปุ่น ตามนโยบาย Greener คืบหน้าตามแผน พร้อมเปิดดำเนินการภายในปลายปีนี้

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Conventional Power Generation) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Generation) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รายงานผลประกอบการที่ดีและผลกำไรที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งของไตรมาส 1/2561 โดยมีรายได้ 2,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 1,931 ล้านบาท กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) คิดเป็น 1,634 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงาน 1,372 ล้านบาท (ยังไม่รวมการรับรู้ค่าใช้จ่ายจากคดีโครงการโรงไฟฟ้าหงสาจำนวน 901 ล้านบาท ที่บริษัทฯ ชำระครบเรียบร้อยแล้ว) ซึ่งเป็นผลจากการจ่ายไฟเข้าระบบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและหงสาที่มีอัตราการจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) มากกว่าร้อยละ 90 อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบด้านการบริหารพอร์ตการลงทุนของโรงไฟฟ้าในทุกประเทศที่ช่วยสร้างผลตอบแทนและกระแสเงินสดอย่างสมดุล ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะขับเคลื่อนบริษัทฯ สู่เป้าหมายกำลังผลิต 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมีพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2568 ตามกลยุทธ์ผลิตไฟฟ้าที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Greener) ซึ่งขณะนี้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเติบโตมาถึงครึ่งทางสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ในไตรมาสแรกของปี 2561 ตอกย้ำศักยภาพการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของบริษัทฯ จากโรงไฟฟ้าในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่มั่นคงจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและโรงไฟฟ้าหงสาที่สามารถรักษาระดับการจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) ได้อย่างมีเสถียรภาพถึงร้อยละ 100 และ 92 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงและดีมากที่สุดตั้งแต่เดินเครื่องมา ในขณะที่โรงฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งในปีนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นที่กำลังทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ถึง 3 แห่ง มาเสริมทัพให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีก ขยายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจนถึงครึ่งทางสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2568”

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2561 ของโรงไฟฟ้าต่างๆ นั้น บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไร 1,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  ร้อยละ 93 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วยส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประเทศไทย จำนวน 523 ล้านบาท (รวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินทางบัญชีแล้วจำนวน 206 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 182 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการเปิดดำเนินการตามปกติของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี หลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงตามแผนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่โรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว มีส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงาน 609 ล้านบาท (รวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินทางบัญชีแล้วจำนวน 348 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทั้งสองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้อย่างมั่นคง

นอกจากนี้บริษัทฯ รายงานรายได้รวมจำนวน 2,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่ง (CHP) ในประเทศจีน ได้แก่ โรงไฟฟ้าหลวนหนาน (Luannan) โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้ง (Zhengding) และโรงไฟฟ้าโจวผิง (Zouping) มีรายได้เพิ่มขึ้น 83 ล้านบาท แม้ต้นทุนถ่านหินจะยังมีความผันผวน และรายได้จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของส่วนขยายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนหนานระยะที่ 2 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีรายได้รวม 36 ล้านบาท เป็นผลจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนขยายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนหนานระยะที่ 2 ที่ COD ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีกำลังผลิต 52 เมกะวัตต์เทียบเท่า เมื่อประกอบกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นจำนวน 3 โครงการที่จะทยอย COD ในช่วงปลายปีนี้อีก 44.5 เมกะวัตต์ ทำให้ตลอดปี 2561 บ้านปู เพาเวอร์ฯ จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 96  เมกะวัตต์เทียบเท่า ในขณะที่ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 385.4 เมกะวัตต์ ซึ่งเติบโตถึงครึ่งทางสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ทั้งนี้ภายในปี 2566 บ้านปู เพาเวอร์ฯ จะมีกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ COD แล้วและโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนารวมทั้งสิ้น 2,789 เมกะวัตต์เทียบเท่า

“บ้านปู เพาเวอร์ฯ สร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการบริหารพอร์ตการลงทุนให้เกิดความสมดุลระหว่างการสร้างผลตอบแทนและกระแสเงินสด ด้วยการแสวงหาโอกาสลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานหลากหลายรูปแบบทั้งในประเทศที่บริษัทฯ มีธุรกิจอยู่ และประเทศที่มีศักยภาพ เช่น เวียดนาม เป็นต้น ทั้งนี้ความสามารถในการบริหารพอร์ตการลงทุนที่สมดุลของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ไม่เพียงส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ยังช่วยสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับองค์กรและผู้ถือหุ้นอีกด้วย” นายสุธี กล่าวปิดท้าย

# # #

เกี่ยวกับบ้านปู เพาเวอร์ฯ
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Conventional Power Generation) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Generation) ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ประเทศไทย สปป.ลาว จีน และญี่ปุ่น ปัจจุบัน บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 27 แห่ง/โครงการ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายกำลังผลิตตามกลยุทธ์การแบ่งสัดส่วนอย่างสมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High-Efficiency, Low Emissions: HELE) และจากพลังงานหมุนเวียน พร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจไฟฟ้าในระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน สำหรับสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 49,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,471 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560

© 2024 Banpu Power Public Company Limited | บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน). All rights reserved.