ความสำคัญ
ปัจจุบัน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหลายสาเหตุ อาทิ การสูญเสียพื้นที่ป่า การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศน์และทรัพยากรชีวภาพมากจนเกินจุดสมดุล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคุกคามจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และมลพิษจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่ง BPP ตระหนักถึงความสำคัญและมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ เพื่อหลีกเลี่ยงและดำเนินการป้องกันและลดผลกระทบให้น้อยลงที่สุด
แนวทางการบริหารจัดการ
BPP มีแนวทางในการบริหารจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลำดับแรก กล่าวคือตั้งแต่การเลือกพื้นที่การดำเนินงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่
- มุ่งมั่นในการดำเนินโครงการที่สร้างผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิเชิงบวก (Net Positive Impact) ในพื้นที่ดำเนินงาน โดยใช้แนวทาง
- หลีกเลี่ยงการดำเนินโครงการในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
- ประเมินผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจเกิดขึ้นในทุกหน่วยการผลิตที่ BPP มีอำนาจในการบริหารจัดการ และมีการทบทวนการประเมินเป็นประจำ หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่
- ดำเนินการศึกษาและประเมินคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเก็บข้อมูลและจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบก่อนเริ่มดำเนินโครงการ
- คำนึงถึงผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพในทุกระยะของการดำเนินโครงการ ตั้งแต่การสำรวจ การก่อสร้าง ระหว่างการดำเนินงาน และช่วงหมดอายุโครงการ
- ให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียว่าทุกหน่วยผลิตของ BPP จะไม่มีหน่วยธุรกิจใดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นมรดกโลกและพื้นที่คุ้มครองโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature :IUCN) ประเภทที่ 1-4 รวมทั้งแสดงเจตนารมณ์ที่จะไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า ตามที่ระบุไว้ในนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ
- สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาเพื่อดำเนินโครงการการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
- สนับสนุนโครงการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง
- ติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติทั้งการพึ่งพาและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD) ร่วมกับกลุ่มบ้านปู เพื่อเพิ่มความโปร่งใส่ในการรายงานข้อมูล พัฒนาความสามารถในการจัดการความเสี่ยง และส่งเสริมการดำเนินงานที่ส่งผลบวกต่อธรรมชาติ เป็นต้น
การประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
BPP ประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการที่ลงทุนใหม่ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความเสี่ยงและความเป็นไปได้ของโครงการ ส่วนหน่วยธุรกิจปัจจุบัน บริษัทฯ ประเมินโดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้พื้นที่โดยภาพถ่ายดาวเทียม ติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย/ข้อกำหนดการใช้พื้นที่ และอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจมีผลกระทบจากโรงไฟฟ้า เป็นต้น โดยกำหนดพื้นที่ศึกษาของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งเป็นรัศมีรอบโรงไฟฟ้า 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าประมาณ 80 ตารางกิโลเมตร รวมถึงเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ
ผลการดำเนินงาน
- ประเมินด้านความหลากหลายทางชีวภาพครบถ้วนทุกพื้นที่ของหน่วยธุรกิจ
- ไม่มีหน่วยการผลิตตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
- ไม่มีข้อร้องเรียนหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ
ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ
การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมวิญเจิว เวียดนาม
โรงไฟฟ้าพลังงานลมอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ปีก ได้แก่ นกและค้างคาว บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ จึงได้ดำเนินการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพรอบพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมวิญเจิวในเวียดนาม เพื่อเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการ การประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและหาแนวทางป้องกันและแก้ไขก่อนดำเนินการก่อสร้าง โดยมีวิธีการศึกษาวิจัย และการเก็บตัวอย่างตามมาตรฐานทางวิชาการอ้างอิง International Finance Corporation (IFC) Performance Standard 6 ประกอบด้วย
การศึกษาความหลากหลายของพืชพรรณ: ดำเนินการศึกษาโดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิ ภาพถ่ายดาวเทียม และการสำรวจในพื้นที่ พบว่าพื้นที่โครงการส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำอื่นๆ พื้นที่โดยรอบเป็นป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกจากการประมง จึงพบพืชเพียง 40 สายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชแบบพุ่มไม้ และมี 19 สายพันธุ์ เป็นพืชในกลุ่มป่าชายเลน
การสำรวจเส้นทางการบินของนก: ดำเนินการศึกษาโดยการสำรวจในพื้นที่ทั้งในช่วงหน้าแล้งและหน้าฝน เพื่อให้ครอบคลุมชนิดพันธุ์ท้องถิ่นและนกอพยพ เส้นทางการบิน ความสูงของการบิน และความแตกต่างของชนิดพันธุ์ในฤดูกาล จากการศึกษานก 52 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่บินต่ำกว่า 35 เมตร ซึ่งเป็นความสูงต่ำสุดของใบพัด
การสำรวจค้างคาว: เนื่องจากค้างคาวเป็นสัตว์ที่หากินกลางคืนและพบเห็นได้ยากกว่านก ในการศึกษาจึงจำเป็นต้องใช้หลากหลายวิธี เช่น การวิจัยข้อมูลทุติยภูมิ การตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ การใช้คลื่นเสียง (Mobile Acoustic Transects and Stationary Acoustic Point Count) การดักด้วยตาข่าย การสังเกตด้วยอุณหภูมิ และการสัมภาษณ์ชุมชนในการพบเห็นการทำรังในพื้นที่ เป็นต้น พบว่า สามารถจำแนกค้างคาวได้ราว 6 สายพันธุ์ จากการจำแนกด้วยคลื่นเสียง จากการดักด้วยตาข่าย 2 สายพันธุ์ และจากการสำรวจแหล่งที่อยู่ในช่วงกลางวันอีก 3 สายพันธุ์ จากการสำรวจในพื้นที่พบค้างคาวจำนวนน้อยกว่าข้อมูลทุติยภูมิ ซึ่งอาจเกิดจากในบริเวณพื้นที่โครงการไม่มีผลไม้และแหล่งอาหารของค้างคาว
บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพต่อไปในอนาคต
เอกสารดาวน์โหลด
นโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ
รายงานการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2567