By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
BPP โชว์ผลกำไรไตรมาสแรก 2568 เสริมมูลค่าโรงไฟฟ้าในจีนด้วยพลังงานชีวมวล ควบคู่ขยายพลังงานหมุนเวียน

BPP โชว์ผลกำไรไตรมาสแรก 2568 เสริมมูลค่าโรงไฟฟ้าในจีนด้วยพลังงานชีวมวล ควบคู่ขยายพลังงานหมุนเวียน

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานระดับสากล เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2568  มีกำไรจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีนและการซื้อขายพลังงานในญี่ปุ่น พร้อมเดินหน้าแผนการลด
การปล่อย CO2 อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเชื้อเพลิงชีวมวลมาใช้ร่วมกับเชื้อเพลิงหลักในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทั้ง
3 แห่งในจีน (Biomass Co-firing) ประกอบกับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากการขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Emission Allowances: CEAs) เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเดินหน้าขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจอื่นๆ
ที่เกี่ยวเนื่อง (Renewables+) ผ่าน Banpu NEXT ทั้งในจีนและญี่ปุ่น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอน (Decarbonization Journey)

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า “ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังเผชิญความผันผวนและมีการปรับขึ้นภาษีทางการค้าระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา แต่ BPP ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโต ด้วย
จุดแข็งจากการกระจายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจที่สมดุล และเลือกลงทุนในภูมิภาคที่มีการเติบโตมั่นคง โดยเน้นการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในตลาดภายในประเทศเป็นหลัก (Domestic market) ควบคู่กับความร่วมมือกับพันธมิตรในท้องถิ่น เพื่อเสริมความยืดหยุ่นใน
การดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนเป้าหมายพลังงานของแต่ละประเทศอย่างมีประสิทธิผล เราเชื่อว่าความหลากหลายของโมเดลธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งพลังงานความร้อน (Thermal Energy) และพลังงานหมุนเวียนรวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (Renewables+) คือหัวใจสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และเป็นฐานสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว”

โดยผลดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2568 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 574 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา
และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 1,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 286 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีนที่บริหารต้นทุนถ่านหินได้ดี และรายได้จากการขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน (CEAs) ที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งประสบความสำเร็จในการใช้ชีวมวลสัดส่วน 10% ร่วมกับเชื้อเพลิงหลัก ขณะที่โครงการที่โรงไฟฟ้าโจวผิงอยู่ระหว่างขั้นตอนทดสอบระบบก่อนเปิดดำเนินการ และโรงไฟฟ้าหลวนหนานอยู่ในขั้นตอนการประมูล นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายท่อส่งไอน้ำในจีน สำหรับธุรกิจ Renewables+ ได้ลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม
จินหู เฉียนเฟิง (Jinhu Qianfeng Solar Farm)
ตั้งอยู่ที่มณฑลเจียงชู ในจีน มีกำลังผลิต 120 เมกะวัตต์ เป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ผสมผสานกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquavoltaic) โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความต้องการพลังงานสูง และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการ
เชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2569

ด้านโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ในสปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย ยังคงเดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถรักษาค่าความพร้อมจ่ายไฟ (EAF) ในระดับสูงที่ร้อยละ 81 ทั้งสองแห่ง

ขณะที่ในญี่ปุ่น ธุรกิจซื้อขายพลังงานมีผลการดำเนินงานโดดเด่น ด้วยปริมาณซื้อขายรวม 2,020 กิกะวัตต์ชั่วโมงในไตรมาสแรก พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ (Grid-Scale BESS) แห่งแรกในกรุงโตเกียว ผ่านการดำเนินงานของ Banpu NEXT มีกำลังการกักเก็บ 8 เมกะวัตต์ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เสริมเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้า และตอบสนองต่อความต้องการพลังงานที่เติบโตต่อเนื่องในท้องถิ่น

ส่วนในสหรัฐฯ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ยังคงเดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะเดียวกันกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ในตลาดพลังงานเสรี ERCOT มีแนวโน้มลดลงภายใน 2569 จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาไฟฟ้าในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นส่งผลเชิงบวกต่อการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่ง

“BPP ยังคงเชื่อมั่นในกลยุทธ์ของเราที่ถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่น และการบริหารความเสี่ยงเชิงรุกผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่หลากหลาย เพื่อรักษาประสิทธิภาพการดำเนินงานในแต่ละตลาด ประกอบกับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจอย่างแข็งแกร่งและมีเป้าหมายชัดเจนใน
การสร้างอนาคตพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” นายอิศรา นิโรภาส กล่าวเสริม

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com

###

เกี่ยวกับ BPP

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เป็นผู้ผลิตพลังงานระดับสากลที่มุ่งมั่นส่งมอบพลังงานที่มั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั้งพลังงานความร้อน (Thermal Energy) และพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (Renewables+) ใน 8 ประเทศยุทธศาสตร์ทั่วโลก ได้แก่ ไทย ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา BPP พัฒนาและส่งมอบพลังงานคุณภาพสูง ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและการดำเนินงานภายใต้ธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง พร้อมขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนชุมชนและการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินงาน

สำหรับสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 96,842 ล้านบาท

© 2025 Banpu Power Public Company Limited | บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน). All rights reserved.