By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
BPP เผย 5 เทรนด์อนาคตพลังงาน สร้างความมั่นคง-ลด CO₂

BPP เผย 5 เทรนด์อนาคตพลังงาน สร้างความมั่นคง-ลด CO₂

ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านพลังงาน เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงอื่น ๆ (Electrification) และการเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digitalization) ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงผ่านเทคโนโลยี ขณะเดียวกันความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกภาคส่วนเร่งสร้างระบบพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานมีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการใช้พลังงาน ที่เพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น พร้อมเดินหน้าสู่ความมั่นคงด้านพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจให้สอดรับกับภูมิทัศน์พลังงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป (Energy Landscape Transformation) บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ในฐานะผู้ผลิตพลังงานระดับสากล ได้รวบรวม 5 เทรนด์พลังงานสำคัญที่องค์กรธุรกิจควรจับตา ดังนี้

  1. ความมั่นคงทางพลังงาน ปัจจัยสำคัญผลักดันการลงทุนทั่วโลก

รายงานล่าสุดจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า “ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security)” กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้การลงทุนด้านพลังงานทั่วโลกในปี 2025 พุ่งสูงถึง 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็นการลงทุนในพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน รวมมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน พลังงานนิวเคลียร์ ระบบโครงข่ายไฟฟ้า และแบตเตอรี่ รวมมูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[1] ท่ามกลางความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและความกังวลด้านความมั่นคงทางพลังงาน ภาครัฐและภาคธุรกิจทั่วโลกจึงเร่งวางแผนรับมือความเสี่ยงรอบด้านผ่านการลงทุนที่สมดุลทั้งในพลังงานดั้งเดิมและพลังงานสะอาดเพื่อรักษาความต่อเนื่องในการใช้ไฟฟ้า สร้างความมั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานภายในประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมเสริมความมั่นคงทางธุรกิจและเศรษฐกิจระดับประเทศในระยะยาว

  1. เทคโนโลยี Co-firing ทางเลือกสู่เป้าหมายลด CO

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนยังคงเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักที่ช่วยให้เรามีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง รองรับการใช้ชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างไม่สะดุด เทคโนโลยี Co-firing คือ การนำเชื้อเพลิงทางเลือก เช่น ชีวมวล (Biomass), ไฮโดรเจน (Hydrogen) และแอมโมเนีย (Ammonia) มาใช้ร่วมกับเชื้อเพลิงหลักอย่างฟอสซิลในโรงไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการปล่อย CO₂ โดยหลายประเทศให้ความสนใจและเริ่มทดลองใช้งานจริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น จีน ได้กำหนดให้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ผ่านการปรับปรุงหรือสร้างใหม่ต้องสามารถผสมชีวมวลหรือแอมโมเนียไม่น้อยกว่า 10%[2] ภายในปี 2027 เพื่อบรรลุเป้าหมายลด CO₂ ลง 50% เมื่อเทียบจากระดับการปล่อย CO₂ ในปี 2023[3] ตามแผนปฏิบัติการ “Low-Carbon Transformation of Coal Power Plants (2024–2027)” ด้านไทย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2024)  ได้มีการวางแผนใช้ไฮโดรเจนเริ่มต้นที่ 5% ผสมกับก๊าซธรรมชาตินำร่องใช้ในโรงไฟฟ้าในช่วงปี 2030-2037[4] ซึ่งเทคโนโลยี Co-firing กำลังเปลี่ยนโฉมโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแบบเดิมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

  1. Data Centers โตดันดีมานด์ไฟฟ้าพุ่ง พลังงานหมุนเวียน หนึ่งในทางเลือกที่ตอบโจทย์

พลังงานหมุนเวียนเติบโตต่อเนื่องเพื่อตอบรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจดิจิทัลและศูนย์ข้อมูล (Data Centers) โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าภายในปี 2030 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากศูนย์ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เป็นประมาณ 945 เทราวัตต์-ชั่วโมง[5] โดยกลุ่มยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เช่น Amazon Web Services ได้ตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในศูนย์ข้อมูล ภายในปี 2025[6] ขณะที่ Microsoft และ Google Cloud ได้ขยายความมุ่งมั่นไปสู่การใช้พลังงานที่ปราศจากคาร์บอน (Carbon-Free Energy หรือ CFE) ตลอด 24 ชั่วโมง ภายในปี 2030[7] อย่างไรก็ตาม พลังงานความร้อนยังคงมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง รายงานจาก Precedence Research คาดว่า ตลาดโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทั่วโลกจะมีมูลค่า 1.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 และจะเติบโตถึง 2.13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2034[8] นอกจากนี้ เทคโนโลยี ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage: BESS) กำลังมีบทบาทสำคัญในการสำรองและจ่ายไฟฟ้ากลับสู่ระบบในช่วงที่ไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำให้บริหารความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตลาด BESS ในเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 14.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2033[9] สะท้อนว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานยังคงต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างพลังงานความร้อน พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อเสริมความมั่นคงและความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า

  1. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) เทคโนโลยีพลังงานสะอาด

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR คือ โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ใช้ความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบฟิชชัน (Nuclear Fission) ในการผลิตไฟฟ้า โดยมีจุดเด่นสำคัญคือ การบริหารจัดการวัสดุกัมมันตรังสีใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกแบบที่ส่งเสริมความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ด้วยระบบระบายความร้อนที่ช่วยรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์ถูกออกแบบให้เป็นโมดูลขนาดเล็กช่วยลดระยะเวลาก่อสร้างและติดตั้งจาก 5-6 ปี เหลือเพียง 3-4 ปี โดยมีกำลังผลิตสูงสุดถึง 300 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องโดยไม่ปล่อย CO₂ ปัจจุบันหลายประเทศอยู่ระหว่างพัฒนาและทดลองการใช้งาน เช่น จีน มีโครงการ ACP100 หรือ Linglong One กำลังการผลิตประมาณ 125 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่มณฑลไห่หนาน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2026[10] ขณะที่ในสหรัฐฯ ได้อนุมัติแบบเครื่องปฏิกรณ์ SMR ขนาด 77 เมกะวัตต์ของ NuScale Power[11] สำหรับไทย ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP2024) ได้มีการบรรจุแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก 2 แห่ง ขนาดกำลังผลิตแห่งละ 300 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต[12] เทคโนโลยี SMR จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าจับตามองในการเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอนในระยะยาว

  1. Grid Modernization อัปเกรดโครงข่ายไฟฟ้าให้ชาญฉลาดและทันสมัยยิ่งขึ้น

Grid Modernization คือ การปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้ชาญฉลาด ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อรองรับแหล่งพลังงานที่หลากหลาย เช่น พลังงานหมุนเวียน และตอบโจทย์การใช้พลังงานในอนาคต โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น ระบบควบคุมอัตโนมัติ การวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดการโหลดไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ช่วยลดการปล่อย CO₂ และรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าโดยรวม[13] ในเอเชียแปซิฟิก ตลาด Grid Modernization คาดว่าจะเติบโตจาก 12.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 เป็นกว่า 51.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2032[14] ขณะที่สหรัฐฯ ดำเนินโครงการ Grid Resilience and Innovation Partnerships (GRIP) มูลค่า 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงข่ายไฟฟ้าในการรับมือกับสภาพอากาศที่ผันผวน[15] ส่วนจีนมีการประกาศแผนลงทุนในระบบโครงข่ายไฟฟ้ามูลค่าสูงถึง 800 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 เพื่อรองรับความต้องการไฟที่เพิ่มขึ้นและสนับสนุน
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน[16]

อนาคตพลังงานกำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างระบบพลังงานที่มั่นคง ยืดหยุ่น และลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม แนวโน้มนี้ไม่ได้เป็นเพียงนโยบาย แต่เกิดขึ้นจริงในภาคธุรกิจทั่วโลก ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานใน 8 ประเทศทั่วโลก BPP มุ่งมั่นผลิตและพัฒนาพลังงานคุณภาพสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานและการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกประเทศที่ดำเนินธุรกิจ

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com

[1] อ้างอิงจาก Energy Connects – Global energy investment to cross $3.3 trillion in 2025 amid energy security concerns

[2] อ้างอิงจาก China Coal Action Plan Offers Roadmap for Coal Phase-Out, Asia Research and Engagement

[3] อ้างอิงจาก Ammonia Energy – China: renewable ammonia to reduce power generation emissions

[4] อ้างอิงจาก Thai PBS – PDP ฉบับใหม่เริ่มใช้ พลังงานไฮโดรเจนในปี 2030

[5] อ้างอิงจาก Energy and AI, International Energy Agency (IEA)

[6] อ้างอิงจาก Cedara – Tracking the Transition to Renewable Energy Across Data Centers

[7] อ้างอิงจาก Eurelectric – Exploring the 24/7 carbon-free energy (CFE) ecosystem – the future of corporate procurement

[8] อ้างอิงจาก Precedence Research – Thermal Power Plant Market Size, Share and Trends 2025 to 2034

[9] อ้างอิงจาก Globe News Wire – Asia-Pacific’s Liquid Cooling Market for Stationary Battery Energy Storage Systems (BESS) 2025-2033: Analysis of Trends, Supply Chain, R&D, Regulations, Investment & Funding, Case Studies and More

[10] อ้างอิงจาก Energy News – ACP100, China’s first modular reactor for sustainable nuclear energy

[11] อ้างอิงจาก Reuters – US approves NuScale’s bigger nuclear reactor design

[12] อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ – ผ่าแผนลงทุนโรงไฟฟ้า SMR โจทย์ร้อนนำร่องนิวเคลียร์ขนาดเล็ก 600 เมก

[13] อ้างอิงจาก Sustainability Directory – What Is Grid Modernization?

[14] อ้างอิงจาก Credence Research – Asia Pacific Grid Modernization Market

[15] อ้างอิงจาก U.S. Department of Energy – Grid Resilience and Innovation Partnerships (GRIP) Program

[16] อ้างอิงจาก Climate Insider – China Plans to Invest $800 Billion in Creaking Electricity Grid to Accelerate the Green Transition

###

เกี่ยวกับ BPP

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เป็นผู้ผลิตพลังงานระดับสากลที่มุ่งมั่นส่งมอบพลังงานที่มั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั้งพลังงานความร้อน (Thermal Energy) และพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (Renewables+) ใน 8 ประเทศยุทธศาสตร์ทั่วโลก ได้แก่ ไทย ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา BPP พัฒนาและส่งมอบพลังงานคุณภาพสูง ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและการดำเนินงานภายใต้ธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง พร้อมขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนชุมชนและการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินงาน

© 2025 Banpu Power Public Company Limited | บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน). All rights reserved.