By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
BPP โชว์ผลกำไรครึ่งปีแรก 2566 เติบโตแข็งแกร่ง ดันศักยภาพโรงไฟฟ้า Temple ll เสริมทัพพอร์ตเมกะวัตต์คุณภาพตามเป้า

BPP โชว์ผลกำไรครึ่งปีแรก 2566 เติบโตแข็งแกร่ง ดันศักยภาพโรงไฟฟ้า Temple ll เสริมทัพพอร์ตเมกะวัตต์คุณภาพตามเป้า

  • กำไรสุทธิ 3,452 ล้านบาท สะท้อนความสามารถในการดำเนินงานทุกโรงไฟฟ้า
  • ธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐฯ แข็งแกร่งจากการลงทุนใหม่ใน Temple ll สามารถผนึกพลังร่วมตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากลที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Powering Energy Sustainability with Quality Megawatts (มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ)” รายงานผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ปี 2566 ด้วยกำไรสุทธิ 3,452 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 4,100 ล้านบาท สะท้อนถึงความสามารถในการรักษาเสถียรภาพการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง รวมทั้งสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีกระแสเงินสดมั่นคง อีกทั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภาพรวมในครึ่งแรกของปี 2566 BPP ยังคงสามารถรักษาเสถียรภาพการผลิตของโรงไฟฟ้าทุกแห่งได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถสร้างกระแสเงินสดและรายงานผลกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้เราเดินหน้าสร้างการเติบโตได้ตามแผน โดยล่าสุดได้ต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจของ BPP ในสหรัฐฯ ด้วยการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง พร้อมสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที อีกทั้งยังสามารถผสานพลังร่วมกับโรงไฟฟ้า Temple l ได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการใช้ทรัพยากรร่วมกันและบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรโดยผสานพลังร่วมและดึงศักยภาพสูงสุดของทั้ง 2 โรงไฟฟ้าผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 1) Operation Excellence เน้นแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมและมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ต่างๆ 2) Strategic Trading Approach วางกลยุทธ์ซื้อขายไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการกำหนดราคาซื้อขายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และ 3) Hedging and Risk Management มีกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงและใช้เครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่างๆ ในการจัดการความเสี่ยงเพื่อให้ได้กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ซึ่งทั้ง 3 มาตรการนี้จะทำให้โรงไฟฟ้าของเรามีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้ BPP ได้อย่างมั่นคง”

สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2566 ของ BPP ส่วนหลักมาจากการเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงไฟฟ้าเอชพีซีใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทย โดยมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 93 ด้านโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐฯ รับรู้รายได้จำนวน 2,981 ล้านบาท เป็นผลมาจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในเขตพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ที่ BPP ได้ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ในสัดส่วนร้อยละ 50 ยังคงขยายการเติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ได้เข้าลงทุนในโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มขนาดใหญ่อิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิต 58 เมกะวัตต์ชั่วโมง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 เพื่อสร้างพลังร่วมกับธุรกิจ Energy Trading ที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วในญี่ปุ่นได้ในอนาคต อีกทั้งยังได้ลงทุนในโอยิกะ (Oyika) สตาร์ทอัพสิงคโปร์ ผู้ให้บริการโซลูชันสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เป็นต้น

“ในไตรมาส 3/2566 BPP ยังคงเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้และกระแสเงินสด โดยคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า Temple II ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐเท็กซัสกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน จึงทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูง ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติ อัตราค่าไฟฟ้า และปริมาณยอดขายไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศยุทธศาตร์อย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา BPP ได้จัดตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environment Social and Governance: ESG) อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางและนโยบาย ESG ของ BPP สู่เป้าหมายในการขับเคลื่อนอนาคตแห่งการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน โดยเน้นความโปร่งใสและความเป็นอิสระในการกำกับดูแลด้านความยั่งยืนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” นายกิรณกล่าวปิดท้าย

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com

###

ข้อมูลโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าของ BPP ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2566

โรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้า โครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
จำนวน (แห่ง/โครงการ)
41 39 2
กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน (เมกะวัตต์)
3,693 3,524 168

# # #

เกี่ยวกับ BPP

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล ที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Powering Energy Sustainability with Quality Megawatts” (มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมประเทศไทย ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา BPP มุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้มากกว่า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

สำหรับสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 78,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,211 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมปีก่อน ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565

© 2024 Banpu Power Public Company Limited | บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน). All rights reserved.