By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
ส่องอนาคต BPP กับก้าวสำคัญในสหรัฐฯ ผนึกพลัง 2 เท่า ด้วยโรงไฟฟ้าแฝด Temple I และ Temple II เสริมแกร่งให้ธุรกิจไฟฟ้าทั้ง Value Chain

ส่องอนาคต BPP กับก้าวสำคัญในสหรัฐฯ ผนึกพลัง 2 เท่า ด้วยโรงไฟฟ้าแฝด Temple I และ Temple II เสริมแกร่งให้ธุรกิจไฟฟ้าทั้ง Value Chain

เมื่อกล่าวถึงประเทศที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจและมีอัตราการใช้ไฟฟ้าระดับสูงในอันดับต้นๆ ของโลก คงหนีไม่พ้น “สหรัฐอเมริกา” แค่ในรัฐเท็กซัสที่มีประชากรประมาณ 30 ล้านคน แต่กลับมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าประเทศไทยทั้งประเทศเกือบ 2 เท่าเลยทีเดียว การมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก ก็หมายความว่าโอกาสของผู้ผลิตก็มีมากเช่นกัน ซึ่งต้องเป็นผู้ผลิตที่มีศักยภาพมากพอเพื่อรองรับต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ ไม่นานมานี้ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล ที่ดำเนินการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple l รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 2564 ได้เข้าลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณติดกัน ทำให้ BPP กลายเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่รวมกำลังผลิตราว 1,500 เมกะวัตต์ที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง นับเป็นก้าวสำคัญของ BPP ในการต่อยอดการเติบโต รวมถึงเพิ่มโอกาสทำกำไรในระยะยาวจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter

“จากการที่ BPP เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้า Temple l ทำให้เราได้ศึกษาตลาดไฟฟ้าในรัฐเท็กซัสเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นและพบว่าเท็กซัสนั้นมีขนาดใหญ่และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ช่วงพีคอาจขึ้นไปได้ถึง 84,000 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับความต้องการของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 34,000 เมกะวัตต์ ทั้งที่ประชากรน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่งแต่การใช้ไฟฟ้ามีปริมาณมากกว่าหนึ่งเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว BPP เห็นโอกาสดังกล่าว จึงได้วางแผนลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ ซึ่งการที่เราได้โรงไฟฟ้า Temple ll มาเพิ่มเติมนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเพิ่มเมกะวัตต์ให้แก่พอร์ตโฟลิโอของ BPP เท่านั้น แต่ด้วยความที่โรงไฟฟ้า Temple l และ Temple ll นั้นอยู่ติดกัน ทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่สามารถบริหารต้นทุนต่อหน่วยได้ต่ำลงและสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้น (Economies of Scale: EOS) ทั้งผนึกกำลังผลิตได้เป็น 2 เท่า พร้อมทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจากการแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ต่างๆ อีกทั้งต้นทุนในการบริหารถูกลงเมื่อคิดเทียบกับการแยกบริหารสองโรงขนาดใหญ่ อย่างเช่นการมีทีมงานประจำและทีมบริหารที่ดูภาพรวมการทำงานและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งควบคู่ไปด้วยกัน หรือการมีเครื่องจักร เครื่องมือสำหรับเป็นอุปกรณ์การซ่อมบำรุงและเป็นอุปกรณ์สำรองที่สามารถแบ่งปันกันได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้พื้นที่ส่วนกลางระหว่างโรงไฟฟ้าทั้งสองได้เพื่อขยายธุรกิจต่อยอดเพิ่มเติมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการทำแบตเตอรี่ หรือแม้แต่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อีกทั้งช่วงเวลาที่เราได้โรงไฟฟ้า Temple ll มา ยังเป็นช่วงเตรียมเข้าสู่ฤดูร้อน หรือเรียกว่าเป็น High Season ในการใช้ไฟฟ้า อย่างปีที่แล้ว ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ตลาด ERCOT (The Electric Reliability Council of Texas) ช่วงฤดูอื่นๆ จะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง ส่วนช่วงฤดูร้อนมีปริมาณมากถึง 130 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมงหรือเพิ่มขึ้นกว่า  ร้อยละ 7 ซึ่งจากความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูง จะส่งผลให้มีการเรียกจ่ายไฟในปริมาณมากขึ้นและเป็นโอกาสอันดีในการสร้างผลกำไรที่มากขึ้นอีกด้วย” พัฒนาศักดิ์ นักสอน Manager – Strategy and Business Development ผู้ดูแลการพัฒนาธุรกิจในสหรัฐฯ ของ BPP เผย

ตั้งแต่ BPP ได้เข้าบริหารจัดการโรงไฟฟ้า Temple l และ Temple ll บริษัทฯ ได้วาง 3 มาตรการเพิ่มโอกาสในการบริหารจัดการและการทำกำไรให้ทั้งสองโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย 1) Operation Excellence เน้นแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ต่างๆ 2) Strategic Trading Approach วางกลยุทธ์ซื้อขายไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการกำหนดราคาซื้อขายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และ 3) Hedging and Risk Management มีกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองออสตินและดัลลัส รัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของประชากรและธุรกิจ จึงเป็นทำเลที่เหมาะอย่างยิ่งในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยการบริหารไฟฟ้าในรัฐเท็กซัสได้รับการดูแลโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ชื่อว่า ERCOT บริหารไฟฟ้าภายใต้รัฐอย่างเป็นเอกเทศในรูปแบบตลาดไฟฟ้าเสรีซึ่งเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ที่มีการเติบโตอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ โอกาสในการทำธุรกิจจึงมีมากกว่าแค่การผลิตและขายไฟฟ้า

“BPP วางกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานของทั้งสองโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดรับกัน มีประสิทธิภาพที่เอื้ออำนวยกัน พร้อมทั้งสร้างผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น  โดยมีแผนการจ่ายไฟให้โรงหนึ่งเน้นเป็น Base Load ในช่วงที่ความต้องการสูงเพื่อให้ได้กระแสเงินสดที่มั่นคง ขณะที่อีกโรงหนึ่งสามารถนำกระแสไฟฟ้าบางส่วนที่ผลิตได้เพื่อหาโอกาสทำกำไรเพิ่มเติมในตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบ Real Time เพื่อขายให้กับลูกค้าระดับครัวเรือน (Retail Customer) โดยในปัจจุบันเราได้เริ่มขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าครัวเรือนประมาณ 25,000 ราย และวางแผนขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งการที่เราเป็นทั้งผู้ผลิตและขายไฟฟ้าได้เอง ทำให้เราสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ พร้อมลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมต้นทุนการผลิตจากการมีอำนาจต่อรองมากขึ้นเนื่องจากมีปริมาณการผลิตที่มากขึ้น รวมไปถึงกำหนดปริมาณการผลิตและกำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสมตามอุปสงค์อุปทานในตลาด ตลอดจนการมีไฟฟ้าส่งมอบแก่ผู้ซื้ออย่างแน่นอน ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นในการพัฒนาและการขยายห่วงโซ่คุณค่าเชิงธุรกิจผลิตไฟฟ้าในสหรัฐของ BPP และพร้อมรองรับโอกาสใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต” พัฒนาศักดิ์ กล่าวเสริม

เมื่อกำลังผลิต ประสิทธิภาพ และทรัพยากรเพิ่มขึ้นเท่าตัว อีกทั้งการก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่เติมเต็มห่วงโซ่คุณค่าของ BPP ในตลาดสหรัฐฯ ได้ครบวงจรยิ่งขึ้น สหรัฐฯ จึงถือเป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์หลักที่ BPP จะเดินหน้าสร้างการเติบโตทางด้านธุรกิจในอนาคตต่อไป

ด้านกิรณ ลิมปพยอม CEO ผู้นำทัพ BPP ได้กล่าวตอกย้ำถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า “การได้มาทั้งโรงไฟฟ้า Temple l และ Temple ll นั้นเป็นบทพิสูจน์ถึงการมุ่งสร้าง Ecosystem หรือระบบนิเวศทางธุรกิจไฟฟ้าของ BPP ให้สมบูรณ์และแข็งแกร่ง โดยสามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยี HELE ขนาดใหญ่ด้วยความรู้ความเข้าใจในกลไกของตลาดไฟฟ้าในสหรัฐฯ อีกทั้งเรายังมุ่งวางแผนการผลิตและจ่ายไฟ ตลอดจนการซื้อขายไฟจากโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งให้ต่างเสริมประสิทธิภาพต่อกันและกัน เพื่อโอกาสในการทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดที่เพิ่มมากขึ้นกลับมายังบริษัทฯ อีกด้วย”

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com

###

 เกี่ยวกับ BPP

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล ที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Powering Energy Sustainability with Quality Megawatts” (มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมประเทศไทย ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา BPP มุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้มากกว่า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

 

© 2024 Banpu Power Public Company Limited | บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน). All rights reserved.