By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
ถึงเวลา…ถอดบทเรียนรักษ์โลกในวัน Earth Day ภารกิจลดโลกร้อน ความยั่งยืนด้านพลังงาน และเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งประวัติศาสตร์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?

ถึงเวลา…ถอดบทเรียนรักษ์โลกในวัน Earth Day ภารกิจลดโลกร้อน ความยั่งยืนด้านพลังงาน และเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งประวัติศาสตร์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?

เป็นที่ทราบกันดีว่าวิกฤตโลกร้อนส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นและสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่อาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความตึงเครียดในยุโรปทำให้เกิดความผันผวนของราคาทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ส่งผลกระทบต่อเนื่องในการผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนทุกชีวิต

เนื่องใน “วันคุ้มครองโลก (Earth Day)” ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ถือเป็นโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคต ได้ตระหนักว่า การมีส่วนร่วมในการปกป้องรักษาโลกให้อยู่กับเราอย่างยั่งยืนนั้น ผู้ผลิตไฟฟ้าต้องให้ความสำคัญในการบริหารการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างสมดุล

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืนด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจจากทั้งจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิกฤตโลกร้อน รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางด้านพลังงานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงขอพาย้อนไปถึง 2 เหตุการณ์ไฟฟ้าดับ (Blackout) ครั้งสำคัญของโลก ซึ่งถือเป็นบทสะท้อนให้เห็นว่าการบริหารการผลิตพลังงานและใช้พลังงานนั้นต้องอาศัยปัจจัยใดบ้าง เพื่อให้ทุกชีวิตบนโลกที่ไม่หยุดหมุนใบนี้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างราบรื่น

เริ่มด้วยเหตุการณ์ไฟดับในรัฐอัสสัมของอินเดีย* ในเดือนกรกฎาคม 2555 ถือเป็นเหตุการณ์ไฟดับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เนื่องจากไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการในช่วงหน้าร้อน ส่งผลให้ชาวอินเดียกว่า 600 ล้านชีวิตไม่มีไฟฟ้าใช้นานถึง 2 วัน ต้องอยู่ในความมืดท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด ไม่สามารถเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศระบายความร้อน การสื่อสารถูกตัดขาดเนื่องจากระบบโทรคมนาคมล่ม รวมถึงการคมนาคมหยุดชะงัก ผู้คนไม่สามารถเดินทางสัญจรได้ตามปกติ มีผู้โดยสารตกค้างที่สถานีรถไฟหลายล้านคน และอีกหนึ่งเหตุการณ์ไฟดับที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา* ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่เกิดพายุหิมะถล่มในช่วงที่อากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน จนน้ำแข็งเกาะกังหันของโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของรัฐเท็กซัส ส่งผลให้ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้สำหรับสร้างความอบอุ่นในช่วงที่อากาศหนาวจัด จนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 60 รายจากอาการอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ รวมถึงเกิดภาวะขาดแคลนน้ำดื่มและอาหาร ผู้คนต่างพากันกักตุนเสบียงและของใช้จำเป็นต่างๆ ในการดำรงชีวิต

2 เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการขาดความพร้อมและความมั่นคงในการส่งมอบพลังงาน (Availability & Stability of Supply) และการผลิตพลังงานไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยและการดำเนินชีวิตของผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะในกรณีเกิดเหตุขัดข้องหรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ ในทางปฏิบัติในปัจจุบันที่เทคโนโลยีด้านการผลิตพลังงานบางประเภทยังมีข้อจำกัด ทั้งในด้านความต่อเนื่องในการผลิต ความต้องการไฟฟ้าที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา และราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้า การสร้างความสมดุลของแหล่งพลังงานที่หลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องมีเสถียรภาพ จึงมีความสำคัญ ในขณะเดียวกัน การเพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ที่พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนสำหรับโรงไฟฟ้าบางประเภทก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อรับมือกับปัจจัยภายนอกหรือภาวะวิกฤตต่างๆ อาทิ แผ่นดินไหว ภัยจากสึนามิ หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ ก็ถือเป็นภารกิจสำคัญของผู้ผลิตพลังงานที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากรณีข้างต้นเลย

BPP จึงให้ความสำคัญกับการบริหารพอร์ตฟอลิโอของธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความยั่งยืนด้านพลังงานด้วยหลัก ARE ซึ่งประกอบด้วย 3 หัวใจหลักคือ การส่งมอบพลังงานในราคาที่สมเหตุสมผล (Affordable) จับต้องได้ ทุกคนต้องเข้าถึงพลังงานได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลที่แตกต่างกัน พลังงานในราคาที่สมเหตุสมผลจึงเป็นเรื่องสำคัญ มีเสถียรภาพในการส่งมอบพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง (Reliable) พลังงานที่ยั่งยืนต้องสามารถส่งมอบได้เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยไม่มีการสะดุดหยุดชะงัก ไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้าและไฟฟ้าดับในพื้นที่ต่างๆ และพลังงานที่ยั่งยืนต้องเป็นมิตรต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly) ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และการนำเทคโนโลยี HELE หรือ High Efficiency, Low Emissions เข้ามาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขยายพอร์ตธุรกิจตามหลักสามเหลี่ยมแห่งความสมดุล (Economic – Environment – Security of Supply) ในพื้นที่ต่างๆ นั่นคือ สามารถตอบโจทย์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีเสถียรภาพ เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่สร้างคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการพลังงานตามบริบทและกฎกติกาที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

BPP ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG) เป็นสำคัญ พร้อมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อตอบรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จในฐานะผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อร่วมขับเคลื่อนทุกคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ไปพร้อมๆ กับการดูแลโลกให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป

*อ้างอิงข้อมูล
https://www.theblackoutreport.co.uk/2020/12/07/11-biggest-blackouts/
https://www.bbc.com/news/world-56085733
https://edition.cnn.com/2021/02/18/weather/winter-storm-weather-thursday

###

 

เกี่ยวกับบ้านปู เพาเวอร์

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ด้วยจุดยืนการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน  (We ARE Power for the Sustainable World)  ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา บ้านปู เพาเวอร์มุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้มากกว่า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

###

© 2024 Banpu Power Public Company Limited | บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน). All rights reserved.