หัวใจหลักในการบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ของ BPP คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดพลังความหลากหลายของระบบนิเวศทางธุรกิจกลุ่มบ้านปูในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดย “บ้านปู ฮาร์ท” เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ผู้บริหารและพนักงานของกลุ่มบ้านปู รวมถึง BPP ทุกคนยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติงาน อันประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ ได้แก่ ใจรัก (Passionate) สร้างสรรค์ (Innovative) และมุ่งมั่นยืนหยัด (Committed)
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำ “บ้านปู ฮาร์ท” มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับพนักงานในประเทศต่าง ๆ ที่บริษัทฯดำเนินธุรกิจ ได้แก่ การสรรหาพนักงานใหม่ การปฐมนิเทศ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนขั้นตำแหน่งงาน การสำรวจความคิดเห็นของพนักงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรและความผูกพันต่อองค์กรเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อสนับสนุนให้พนักงานเข้าใจและนำ “10 พฤติกรรมความเป็นบ้านปู ฮาร์ท” (10 Key Behaviors) มาปรับใช้ในการทำงานประจำวันได้ ตลอดจนสามารถนำพฤติกรรมเหล่านี้ไปขับเคลื่อนเป้าหมายทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปูและBPP
โดยในปี 2567 บริษัทฯ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมให้รองรับการขยายตัวของพอร์ตธุรกิจของ BPP ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเป็นเจ้าของร่วม (Sense of Ownership) และให้อิสระในการสร้างสรรค์กิจกรรมที่หลากหลายตามความแตกต่างของแต่ละประเทศและแต่ละช่วงอายุ เพื่อสนับสนุนการออกแบบและการแสดงออกถึงวัฒนธรรมองค์กรในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละแห่งมากที่สุด เช่น การเรียนรู้ สร้างความเข้าใจร่วม และส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรผ่านการใช้ชีวิตจริงของพนักงานที่มีความหลากหลาย ในโครงการ The Stories of Banpu People: Voices of Dedication ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวการทำงาน การใช้ชีวิต และประสบการณ์ต่าง ๆ ของพนักงานในทุกประเทศ เพื่อให้ทุกคนรู้จักกันมากขึ้น รวมทั้งสามารถเชื่อมโยง “10 พฤติกรรมความเป็นบ้านปู ฮาร์ท” เข้ากับเป้าหมายส่วนบุคคลและเป้าหมายทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปูผ่านการแสดงออกถึงมุมมองความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่สะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งยังมีกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้พนักงานได้มีส่วนร่วมลงมือปฏิบัติ ตลอดจนเชื่อมโยงค่านิยมขององค์กรเข้ากับค่านิยมส่วนบุคคล เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและปรับใช้ในการทำงานได้อย่างคล่องตัว ได้แก่
การสื่อสารที่ใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน เพื่อเชื่อมโยงกลยุทธ์ทางธุรกิจ เข้ากับบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างหลากหลายของทุกคน ให้นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน และทำให้ทุกหน่วยงานในทุกประเทศเห็นภาพเดียวกันภายใต้กลยุทธ์ Energy Symphonics
การสนับสนุนความแข็งแกร่งของ Banpu Change Leaders (BCLs) ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานที่อาสามาขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรด้วยการยกระดับเครือข่าย BCLs ให้ก้าวเข้าสู่การเป็น Global Ecosystem อย่างสมบูรณ์ ได้แก่ การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมให้แก่ BCLs ในกิจกรรม Culture Camp เพื่อออกแแบบกิจกรรมในการสร้างวัฒนธรรม การเข้าใจความต่าง (DEI) และผสานความต่างให้เป็นพลังด้วยกิจกรรมการฟังด้วยหัวใจ การเข้าใจศิลปะแห่งความสุข และการเข้าใจการทำงานของสมองจาก The Brain Secrets of Change เพื่อสร้างทีมงานที่มีศักยภาพสูง การให้ BCLs มีส่วนร่วมออกแบบและจัดกิจกรรม Co-design Employee Engagement Workshop ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการออกแบบกิจกรรม Role Model ที่ถ่ายทำและผลิตหนังสั้นด้วยทีม BCL เองเพื่อถ่ายทอดความเป็นพนักงานบ้านปูที่มีบ้านปู ฮาร์ทเดียวกันผ่านหน้าที่ การทำงานที่แตกต่างกัน
การสนับสนุนให้พนักงานเป็นเจ้าของวัฒนธรรมองค์กรอย่างแท้จริงด้วย Bottom-up Culture Building ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน การนำข้อมูลความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานมาใช้วิเคราะห์การจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับความหลากหลายของพนักงานในแต่ละประเทศ เช่น กิจกรรมตามความสนใจของพนักงาน ได้แก่ การทำช็อกโกแลตให้คนที่ห่วงใย การทำยาดมให้ผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชรา การทอพรมโดยใช้ปืนยิงไหมพรม เพื่อรังสรรไอเดียให้เป็นจริง การทำน้ำหอมเพื่อหาตัวตนและกล้าทดลอง การจัดกิจกรรมภายนอกตามเสียงสะท้อนของพนักงาน
กิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพนักงานอย่างยั่งยืน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ผ่านโปรแกรม Boost Me Up Series กับกิจกรรมพิเศษตลอดทั้งปี รวม 17 กิจกรรม ที่ออกแบบมาเพื่อดูแลครบทั้งสามด้านสำคัญ: สุขภาพใจ สุขภาพกาย และสุขภาพการเงิน เพราะบริษัทฯ เชื่อว่าเมื่อพนักงานมีความสุขและสมดุลในชีวิต พลังสร้างสรรค์ที่ดีจะส่งต่อไปยังเพื่อนร่วมงานและขยายสู่สังคมได้อย่างเต็มที่

กลุ่มบ้านปูมุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรม ‘นวัตกรรม’ อย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างแผนก การแลกเปลี่ยนความรู้ และการเปิดรับความแตกต่างทางความคิด เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ รวมถึงสนับสนุนให้พนักงานกล้าริเริ่ม ทดลอง และพัฒนานวัตกรรม
โครงการ UnBox iDeas เป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อปลูกฝังแนวคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) และการทำงานที่ยืดหยุ่น (Agile) โดยในปี 2567 ได้มีการปรับปรุงกิจกรรมโดยขยายระยะเวลาบ่มเพาะไอเดียให้นานขึ้นเป็น 4 เดือน พร้อมเพิ่ม Upskill Workshop ที่มุ่งเสริมศักยภาพด้านการคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรม เช่น UX Research, Power Platform, Generative AI และ Storytelling เป็นต้น
ในปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 48 คน ซึ่งแบ่งเป็น กลุ่มนักคิดนักทำ จำนวน 24 คน และ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 14 คน โดยพัฒนาแนวคิดรวม 6 หัวข้อที่มีศักยภาพในการต่อยอดสู่การปฏิบัติจริง พนักงานได้พัฒนาไอเดียใหม่ๆ ผ่านการทดลองและเรียนรู้จากกระบวนการลงมือทำ พร้อมรับคำแนะนำเพื่อปรับปรุงแนวคิดให้ดียิ่งขึ้น
บริษัทฯ ยังสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เช่น งบประมาณสำหรับการทดลองและพัฒนาโครงการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการนำแนวคิดไปสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้ก้าวสู่บทบาทของผู้เชี่ยวชาญ (Subject Matter Experts) และผู้ฝึกอบรมภายในองค์กร (Internal Facilitators) ซึ่งจะช่วยถ่ายทอดความรู้ เสริมทักษะ และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

Thailand Innovation Awards และ Banpu Global Innovation Awards เป็นเวทีสำคัญที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมากว่าสิบปี โดยเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ต่อผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานทั้งในประเทศและทั่วโลก การนำเสนอไอเดียใหม่ๆ และโครงการนวัตกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความรู้ แต่ยังเปิดโอกาสในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
กลุ่มบ้านปูได้สร้าง ชุมชนนวัตกรรม (Innovation Community) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการคิดค้นนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดยการจัดตั้ง Banpu Innovation Group ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนานวัตกรรมในองค์กร เช่น การตั้งเกณฑ์การประเมินโครงการและการสร้างระบบผลตอบแทน เพื่อกระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ คณะกรรมการนี้ยังช่วยสนับสนุนการนำแนวคิดสร้างสรรค์ไปปรับใช้ในกระบวนการทำงานจริง พร้อมเชื่อมโยงไอเดียเหล่านี้กับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความยั่งยืนและสร้างคุณค่าให้กับทั้งองค์กรและสังคม
ในปี 2567 มีโครงการนวัตกรรม 31 หัวข้อ จากนานาประเทศที่ได้ส่งเข้ามาประกวดในเวที 2024 Banpu Global Innovation Awards โดยแบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการแล้ว 21 โครงการ และอีก 10 ไอเดียที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและทดลอง ตัวอย่างโครงการนวัตกรรม ได้แก่ Digital Twins ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในโรงไฟฟ้าที่ประเทศจีน โดยยกระดับการควบคุมการผลิตของโรงไฟฟ้า ด้วยการประมวลผลข้อมูล ทำให้การทำงานของหม้อไอน้ำและเครือข่ายท่อความร้อนมีประสิทธิภาพสูงสุด นวัตกรรมนี้ช่วย ปรับปรุงคุณภาพการผลิต เพิ่มความปลอดภัย ลดการ ปล่อยคาร์บอน และเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานในโรงไฟฟ้าอย่างยั่งยืน

ในเดือนกันยายน 2567 BPP ได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างความผูกพันต่อองค์กรภายใต้แนวคิด “Team Collaboration for Greater Success” โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม การวางแผนการทำงานภายใต้ข้อจำกัดบางประการ โดยวิทยากรจะสรุปบทเรียนที่ได้จากการทำแต่ละกิจกรรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมตระหนักว่า การร่วมมือร่วมใจของทุกคนคือกุญแจสำคัญในการทำให้งานประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Empathy in Action | Managing Differences at Work ซึ่งจัดขึ้นโดยหน่วยงาน iSTRONG ที่ดูแลให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่พนักงานทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ยังมาให้ความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างของคนในแต่ละช่วงวัย เนื่องจาก BPP เป็นองค์กรที่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องอายุ เพศ และเชื้อชาติ การยอมรับความแตกต่างจึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมหลักการด้านสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีผลการสำรวจความพึงพอใจร้อยละ 95 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมอย่างดีเยี่ยมจากพนักงาน BPP และพนักงานได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่จะนำไปปรับใช้ในการทำงานต่อไป
