By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
การปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม

ความสำคัญ

การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นหลักการพื้นฐานที่ BPP ถือปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจและเป็นความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจาก BPP มีการดำเนินธุรกิจในหลายประเทศ ซึ่งมีกฎระเบียบที่แตกต่างและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เช่น  กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งหาก BPP ไม่สามารถปรับตัวได้ทันย่อมจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ 

BPP ดำเนินธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายและข้อกำหนดในหลายด้านที่ต้องปฏิบัติอย่างครบถ้วน เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กฎหมายแรงงาน กฎหมายการค้าการลงทุน กฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งใบอนุญาตต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงการทำธุรกิจโดยยึดหลักจริยธรรมการดำเนินธุรกิจ เช่น การต่อต้านการคอร์รัปชัน การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ 

 

แนวทางการบริหารจัดการ

เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินธุรกิจ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายว่า BPP ดำเนินงานสอดคล้องตามกฎหมาย และข้อกำหนดภายนอก บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบภายในและหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามกฎหมาย (Global Internal Audit & Compliance: GIA&C) ขึ้นเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยแบ่งเป็นหน้าที่หลัก 2 ด้าน คือ  

  1. หน่วยงานตรวจสอบภายใน มีหน้าที่ตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน รวมถึงการปฏิบัติตามนโยบาย กฎระเบียบ และคู่มือการปฏิบัติงานภายในองค์กร 
  2. หน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามกฎหมาย มีหน้าที่ส่งเสริม เฝ้าระวัง และตรวจสอบผลการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดภายนอก 

การตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน และการปฏิบัติตามนโยบายและกฎระเบียบภายในองค์กร

เพื่อให้การดำเนินงานของทุกหน่วยงานสอดคล้องกับนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ และคู่มือการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ BPP จึงจัดให้มีการตรวจสอบผลการดำเนินงานและระบบการควบคุมภายในของหน่วยงานภายในองค์กรและบริษัทในเครืออย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวครอบคลุมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่สำคัญ โดยการตรวจสอบภายในของบริษัทฯ ดำเนินการตามกรอบแนวทางปฏิบัติด้านการควบคุมภายในสากลของ COSO (Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission) ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ด้าน ได้แก่ การควบคุมภายในองค์กร การประเมินความเสี่ยง การควบคุมการปฏิบัติงาน ระบบสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูล และระบบการติดตาม  

ทั้งนี้ BPP ได้จัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบภายในที่แยกเป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อทำหน้าที่สอบทานและให้ความมั่นใจว่าบริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ และมีการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเหมาะสม โดยรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท 

การเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และแรงงานตามกฎหมาย

BPP มีระบบในการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นตามที่กฎหมายกำหนด และมีการเฝ้าระวังแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายเพื่อจะได้มีการปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีผ่านการติดตามโดยหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย (Corporate Compliance) ในส่วนกลางและโดยหน่วยงานภายในหน่วยธุรกิจต่าง ๆ โดยเป็นหนึ่งในข้อกำหนดของระบบการบริหารจัดการด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ ผลการปฏิบัติงานในพื้นที่ยังได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอผ่านกิจกรรมดังนี้ 

  • การตรวจสอบภายในด้วยระบบการตรวจวัดของบริษัทฯ อาทิ การตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องแบบต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring: CEM) และระบบการตรวจวัดคุณภาพน้ำ เป็นต้น
  • การตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอก อาทิ การตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศโดยหน่วยงานภายนอก การตรวจประเมินการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน  เป็นต้น

การประกันคุณภาพโดยหน่วยงานภายใน (Quality Assurance Review: QAR)

BPP ร่วมกับกลุ่มบ้านปูได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานสนับสนุน ภายใต้การดูแลของสายงานบริหารและพัฒนาองค์กร ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายอาชีวอนามัย ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของชุมชน ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายนิติการ ฝ่ายบริหารงานจัดซื้อและธุรการ และฝ่าย Business Process Management ดำเนินการสอบทานคุณภาพของการดำเนินงานและความสอดคล้องของกฎหมาย โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน QAR จากสำนักงานกรุงเทพฯ เข้าไปสอบทานผลการดำเนินงานในบริษัทย่อยในแต่ละประเทศ คณะทำงาน QAR ของบริษัทย่อย จะเข้าไปดำเนินการสอบทานในหน่วยธุรกิจทุกหน่วยที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น ๆ เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยนับตั้งแต่ปี 2563 ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงการตรวจประเมินระยะไกลในรูปแบบการตรวจสอบด้วยตนเอง และสัมภาษณ์ รวมถึงการตรวจสอบหลักฐานทางไกล ซึ่งถูกนำมาใช้ในภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปรับใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจนมาถึงปัจจุบัน 

BPP มีเกณฑ์มาตรฐานในสอบทานคุณภาพด้านการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ โดยครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่

การตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรเทียบกับมาตรฐานสากลโดยหน่วยงานภายนอก

BPP ได้นำมาตรฐานสากลมาประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนามาตรฐานการดำเนินงาน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยนำระบบมาตรฐานการดำเนินงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาใช้ในการบริหารงานในหน่วยธุรกิจ ให้เกิดการควบคุมภายในและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพ (ISO 9001) มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) และมาตรฐานการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (ISO 22301) ระบบมาตรฐานการจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISO 27001) ระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำกับดูแลโดย Occupational Safety and Health Administration (OSHA) 

การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายในบริษัทร่วมทุน

เนื่องจาก BPP ไม่มีอำนาจบริหารจัดการโดยตรงในบริษัทร่วมทุน จึงร่วมมือกันกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมลงทุนในธุรกิจนั้น ๆ ในการตรวจสอบการดำเนินงานตามกฎหมายและการบริหารจัดการภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อีกทั้งกำหนดให้มีการตรวจสอบผ่านการรายงานความเสี่ยงซึ่งครอบคลุมการปฏิบัติตามกฎหมายทุกไตรมาส 

การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายในคู่ค้าสำคัญ

BPP มีการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของคู่ค้าที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญ อาทิ ผู้รับเหมาซ่อมบำรุงและปฏิบัติการ ผู้รับเหมาด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง โดยกำหนดไว้ในเงื่อนไขการคัดเลือกและว่าจ้าง มีการตรวจสอบขณะปฏิบัติงานและหากพบข้อบกพร่อง จะร่วมกับคู่ค้าในการวางแผนในการดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดี โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานระบบการจัดการของบริษัทฯ หากพบว่าคู่ค้ามีการดำเนินงานที่ละเมิดกฎหมายจะนับว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขการว่าจ้าง ซึ่งบริษัทฯ จะแจ้งให้คู่ค้าดำเนินการปรับปรุง หรืออาจยกเลิกสัญญา

 

ผลการดำเนินการ

  • ดำเนินการตามระบบการตรวจสอบภายในและการกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามกฎหมายครอบคลุมทุกหน่วยธุรกิจที่บริษัทฯ มีอำนาจในการบริหารจัดการ 
  • ตรวจสอบการดำเนินงานภายในและการปฏิบัติตามกฎหมายในบริษัทร่วมทุน รวมถึงติดตามการแก้ไขข้อบกพร่องให้เป็นไปตามมาตรฐานร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ
  • ไม่มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีนัยสำคัญทั้งใน ธุรกิจที่บริษัทฯ มีอำนาจในการบริหารจัดการตรง บริษัทร่วมทุน และคู่ค้าที่ดำเนินงานในพื้นที่บริษัทฯ

 

เอกสารดาวน์โหลด

นโยบายสิ่งแวดล้อม

© 2025 Banpu Power Public Company Limited | บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน). All rights reserved.