ความสำคัญ
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และปริมาณฝุ่นละออง เป็นดัชนีชี้วัดด้านคุณภาพอากาศที่สำคัญจากการผลิตไฟฟ้าของ BPPได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากปริมาณมลสารที่สูงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐจึงให้ความสำคัญในการควบคุมคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ที่มีปริมาณมลภาวะทางอากาศสูง เช่น ในจีนได้มีการกำหนดมาตรฐานและมาตรการป้องกันคุณภาพอากาศที่เข้มงวดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี นับเป็นความท้าทายที่ BPP ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของการดักจับมลสารอย่างต่อเนื่อง และควบคุมคุณภาพอากาศที่ปล่อยออกให้มีมลสารน้อยที่สุด เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สร้างความเชื่อมั่นแก่สังคมและชุมชนในพื้นที่
แนวทางการบริหารจัดการ
BPP มีมาตรการในการควบคุมคุณภาพอากาศให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อสุขภาพของพนักงานและชุมชนรอบพื้นที่โครงการ ได้แก่
- ลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดอัตราการปล่อยมลสาร
- ใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงระบบการดักจับมลสารก่อนปล่อยออกจากปล่องอย่างต่อเนื่อง เช่น เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulfurization: FGD) และระบบดักจับฝุ่น เช่น เครื่องดักจับฝุ่นด้วยไฟฟ้า (Electrostatic Precipitator) และเครื่องกรองฝุ่นแบบถุง (Bagfilter) เป็นต้น
- เลือกใช้ถ่านหินที่มีปริมาณกำมะถันต่ำ เพื่อลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่แหล่งกำเนิด นอกจากนี้ BPP ยังหาโอกาสในการทำสัญญาซื้อขายระยะยาวในแหล่งถ่านหินที่มีคุณภาพตามที่กำหนด และมีการเปิดการเสนอซื้อขายด้วยระบบออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้าถ่านหินได้เสนอถ่านหินที่มีคุณภาพตรงตามที่ต้องการ
- นำเทคโนโลยีที่สะอาดมาช่วยในการเผาไหม้ในหม้อต้มให้สมบูรณ์ เช่น การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (HELE) การนำเทคโนโลยีสะอาดขณะเผาไหม้ในหม้อต้มไอน้ำแบบ Pulverized Fuel Combustion และ Fluidized Bed Combustion มาใช้เพื่อลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และฝุ่นละอองขณะเผาไหม้ เป็นต้น
- มีระบบการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศปล่อยออกแบบต่อเนื่องตลอดเวลาการดำเนินการผลิตไฟฟ้า กำหนดมาตรการป้องกัน และมีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกอย่างสม่ำเสมอ
- ประเมินและบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไข เช่น ความเสี่ยงจากอุปกรณ์เครื่องจักรไม่สมบูรณ์ ความเสี่ยงจากคุณภาพถ่านหิน ความเสี่ยงจากสภาพอากาศและอุณหภูมิตามฤดูกาล เป็นต้น
- นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาระบบการดำเนินงานในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนหนาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานโดยการควบคุมค่าออกซิเจนที่เหมาะสมในกระบวนการเผาไหม้ ซึ่งช่วยควบคุมมลสารให้อยู่ในระดับต่ำ
ผลการดำเนินงาน
- คุณภาพอากาศจากปล่องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
- อัตราการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 0.089 กิโลกรัม/เมกะวัตต์–ชั่วโมง
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 0.0173 กิโลกรัม/เมกะวัตต์–ชั่วโมง
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 0.0022 กิโลกรัม/เมกะวัตต์–ชั่วโมง
- อัตราการปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน 0.0305 กิโลกรัม/เมกะวัตต์–ชั่วโมง
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 0.0367 กิโลกรัม/เมกะวัตต์–ชั่วโมง
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 0.0255 กิโลกรัม/เมกะวัตต์–ชั่วโมง
- อัตราการปล่อยฝุ่นละออง 0.0127 กิโลกรัม/เมกะวัตต์–ชั่วโมง
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 0.0018 กิโลกรัม/เมกะวัตต์–ชั่วโมง
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 0.0212 กิโลกรัม/เมกะวัตต์–ชั่วโมง
ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ
การใช้ Digital Twins เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดมลสารในอากาศ
เนื่องจากระบบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าหลวนหนานในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น ความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งคือการปรับค่าตัวแปรการดำเนินการผลิตไฟฟ้า ซึ่งประสิทธิภาพของการดำเนินการผลิตจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการผลิตของโรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าหลวนนานจึงได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบ Digital Twins ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถกำหนดตัวแปรในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง ประกอบด้วย คอมพิวเตอร์ลูกข่าย (Client), การประมวลผลข้อมูลที่จุดปลายของเครือข่าย (Edge computing), ระบบคลาวด์ (Cloud computing) ชุดข้อมูลการดำเนินการผลิตขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งระบบ Digital Twins สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า โดยการควบคุมค่าออกซิเจนที่เหมาะสมในกระบวนการเผาไหม้ ทำให้การเผาไหม้ในหม้อต้มไอน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลให้ลดปริมาณการปล่อยมลสาร ได้แก่ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนลดลงร้อยละ 17 ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลงร้อยละ 19 และฝุ่นละอองลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานปี 2565 รวมถึงลดปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพอากาศ ได้แก่ ยูเรียและหินปูนได้ถึง 580 ตัน หรือลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 26,290 เหรียญสหรัฐในปี 2566
จากผลการดำเนินงานนี้ ทำให้บริษัทฯ มั่นใจในการดำเนินงานตามกฏหมายควบคุมคุณภาพอากาศของรัฐ ลดความเสี่ยงด้านคุณภาพอากาศ บทปรับ และข้อร้องเรียนจากชุมชนรอบโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังสามารถลดการใช้ถ่านหินได้ถึง 8,658 ตัน หรือลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ประมาณ 1,323,150 เหรียญสหรัฐในปี 2566 อีกทั้งยังสร้างศักยภาพและทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีของพนักงาน และสามารถขยายผลไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมอื่นได้