By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
น้ำ

ความสำคัญ

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ความเสี่ยงด้านน้ำทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เช่น ผลิตไอน้ำในหม้อต้ม ควบคุมอุณหภูมิในระบบหล่อเย็น ควบคุมคุณภาพอากาศ เป็นต้น ดังนั้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตและน้ำปล่อยออกที่มีประสิทธิภาพทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณจะช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนจากการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำจืดที่มีอยู่จำกัดในพื้นที่ และปัญหาด้านคุณภาพน้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทฯ ในด้านต้นทุนการผลิต การปฏิบัติตามกฎหมาย และความสัมพันธ์กับชุมชน 

 

แนวทางการบริหารจัดการ

BPP กำหนดเป้าหมายอัตราการใช้น้ำในการผลิตและมีการติดตามผลการดำเนินงานเทียบกับเป้าหมายรายปี เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานสอดคล้องตามมาตรฐานการดำเนินงานที่ดีและเป็นไปตามข้อกำหนดด้านคุณภาพน้ำของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดทำแบบจำลองระบบน้ำ (Water system concept model) ของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง เพื่อใช้ติดตามและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยนำแนวทางลำดับชั้นการจัดการน้ำ (Water Management Hierarchy) มาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อให้มีการใช้น้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้ 

  1. การกำจัด (Elimination) ารตัดการใช้น้ำในกระบวนการบางอย่าง ซึ่งพิจารณาเป็นทางเลือกแรกหากสามารถทำได้ 
  2. การลด (Reduction) การดำเนินการหรือพยายามลดการใช้น้ำในกระบวนการ เมื่อไม่สามารถกำจัดการใช้น้ำได้ 
  3. การนำกลับมาใช้ใหม่โดยตรง/การใช้น้ำจากผู้ผลิตภายนอก (Direct reuse/outsourcing) การใช้น้ำในหลายกระบวนการโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการบำบัด/การซื้อน้ำมาใช้จากผู้ผลิตภายนอก 
  4. การนำกลับมาใช้ใหม่/การรีไซเคิล (Regeneration reuse/recycling) น้ำจะผ่านกระบวนการบำบัดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล 
  5. น้ำจืด (Fresh water) พิจารณาใช้น้ำจืด เมื่อไม่สามารถนำใช้น้ำเสียกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ 

เนื่องจากแหล่งน้ำของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในจีนใช้มาจากน้ำใต้ดินและน้ำจากผู้ผลิตภายนอกในกระบวนการผลิตไอน้ำ การบริหารจัดการจึงมุ่งเน้นการนำกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อลดปริมาณน้ำปล่อยออกและมีคุณภาพตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่สหรัฐอเมริกาเป็นการใช้น้ำจากผู้ผลิตภายนอกเพียงอย่างเดียวโดยเป็นน้ำใช้แล้วจากชุมชน และมีบ่อกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ภายในบริเวณพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเพื่อบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้วิธีการบำบัดทางชีวภาพ ควบคุมปริมาณสาหร่าย ความเป็นกรด-ด่าง ช่วยลดปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดน้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เพื่อเตรียมคุณภาพน้ำก่อนเข้าสู่ระบบบำบัดแบบ Zero-Liquid Discharge (ZLD) ทำให้น้ำมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าได้ จากการบริหารจัดการน้ำในโรงไฟฟ้าแบบองค์รวมนี้ ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถสำรองปริมาณน้ำใช้ได้อย่างพอเพียงและไม่มีการปล่อยน้ำเสียจากการผลิตออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง 

เพื่อให้มั่นใจว่ามีการบริหารจัดการน้ำ และน้ำปล่อยออกมีคุณภาพเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด BPP มีมาตรการตรวจวัดคุณภาพน้ำก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกที่ดำเนินการตรวจวัดโดยบริษัทฯ และหน่วยงานภายนอก ทั้งนี้ชนิดของมลสารที่ทำการตรวจวัด ความถี่ และวิธีการตรวจวัดของแต่ละหน่วยธุรกิจอาจแตกต่างกันตามข้อกำหนดของแต่ละโครงการ และตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละพื้นที่ มีมาตรการป้องกันการรั่วไหลและปนเปื้อนของสารเคมีที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งกำหนดมาตรการและวิธีปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในกรณีเกิดอุบัติการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ และสามารถการฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะเวลาที่เหมาะสม 

BPP ทบทวนการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับน้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงและผลกระทบด้านน้ำ เช่น ความเสี่ยงด้านจากการขาดแคลนน้ำ ความเสี่ยงจากภัยแล้ง ความเสี่ยงด้านกฎหมาย เป็นต้น รวมทั้งเตรียมมาตรการลดความเสี่ยงและการตรวจติดตามต่างๆ โดยทำการประเมินด้วยแผนที่ความเสี่ยงด้านน้ำ (Aqueduct) ของ World Resources Institute (WRI) 

ผลการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำของโรงไฟฟ้า บริษัทฯ นำมาผนวกรวมเข้ากับการประเมินความเสี่ยงขององค์กร โดยมีมาตรการในการบริหารความเสี่ยง ดังนี้ หัวข้อมาจาก CSA ฉบับภาษาไทยไม่ต้องใส่ภาษาอังกฤษ 

หัวข้อ 

มาตรการบริหารความเสี่ยง 

ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำจากการพึ่งพาแหล่งน้ำ (Dependency-related water risks considered in risk assessment) 
  • เน้นการลดการใช้น้ำในกระบวนการลิ การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่โดยตรง และการนำมาผ่านกระบวนการบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่/การรีไซเคิล 
  • สร้างบ่อพักน้ำภายในพื้นที่เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำและนำลับมารีไซเคิล 
ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากน้ำ (Impact-related water risks considered in risk assessment) 
  • กำหนดตัวชี้วัดเชิงคุณภาพและปริมาณน้ำในจุดต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบ เพื่อเฝ้าระวังและหามาตรการจัดการที่เหมาะสม 
  • กำหนดมาตรการป้องกันการรั่วไหลและปนเปื้อนของสารเคมีที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งมาตรการและวิธีปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน 
การประเมินปริมาณน้ำที่จะมีในอนาคต (Assessment of future water quantities available) 
  • ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับน้ำเป็นประจำทุกปี โดยครอบคลุมการขาดแคลนน้ำและความต้องการน้ำในอนาคต
  • ดำเนินโครงการลดปริมาณการใช้น้ำในโรงไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำใช้ในส่วนต่อขยายของโรงไฟฟ้า เพื่อลดการใช้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่และมีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอกน้อยที่สุด รวมทั้งสร้างบ่อพักน้ำภายในพื้นที่เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำและนำลับมารีไซเคิล 
การประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำในอนาคต(Assessment of future water quality-related risks) 
  • ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับน้ำเป็นประจำทุกปีโดยครอบคลุมคุณภาพน้ำในอนาคต 
  • ตรวจวัดคุณภาพน้ำก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกที่ดำเนินการตรวจวัดโดยบริษัทฯ และหน่วยงานภายนอกเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพน้ำเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 
การประเมินผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น (Assessment of impacts on local stakeholders) 
  • ประเด็นความเสี่ยงผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น การใช้น้ำร่วมกับชุมชน การปล่อยน้ำออกสู่แหล่งน้ำ เป็นต้น มาใช้ในการประเมินผลกระทบทางสังคมก่อนเริ่มดำเนินโครงการ 
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่และภาคการศึกษาวิจัย เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การปรับปรุงคุณภาพน้ำ และการบริหารจัดการในท้องถิ่น 
การประเมินการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในระดับท้องถิ่น (Assessment of future potential regulatory changes at a local level) 
  • มีการติดตามกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น กฎหมายห้ามใช้น้ำบาดาลที่ติดตั้งภายในพื้นที่โครงการในจีน เป็นต้น โดยหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามกฎหมายส่วนกลางและในระดับประเทศ 
  • คาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและนำมาประเมินความเสี่ยง เพื่อหามาตรการลดความเสี่ยงที่เหมาะสม 

 

ในการวัดผลการดำเนินงาน BPP มีการจัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำของธุรกิจตามมาตรฐาน GRI 303 (2018) เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ โดยน้ำที่ดึงจากแหล่งน้ำประกอบด้วยปริมาณน้ำผิวดินที่สูบจากแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำใต้ดินที่สูบมาใช้งาน และปริมาณน้ำที่รับจากหน่วยงานภายนอก โดยไม่รวมปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ เนื่องจากไม่มีการใช้น้ำดังกล่าว ภายใต้สมมติฐานว่าแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่มีความจุน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ดึงจากแหล่งน้ำทั้งหมด สำหรับข้อมูลปริมาณน้ำทั้งหมดเก็บจากมิเตอร์วัดน้ำ 

 

ผลการดำเนินงาน

  • อัตราการใช้นํ้าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ 0.817 ลบ.ม./เมกะวัตต์-ชั่วโมง
    • โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 0.717 ลบ.ม./เมกะวัตต์-ชั่วโมง
    • โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 0.897 ลบ.ม./เมกะวัตต์-ชั่วโมง
  • คุณภาพนํ้าปล่อยออกเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

 

 

ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ

การประเมินความเสี่ยงด้านน้ำ 

BPP ประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำจากตำแหน่งพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทุกแห่งเป็นประจำทุกปี เนื่องจากมีความต้องการปริมาณน้ำในกระบวนการผลิตสูง โดยใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยง Aqueduct 4.0 ที่อ้างอิงจาก WRI Aqueduct Water Risk Atlas ซึ่งเป็นโปรแกรมแสดงการจัดจำแนกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำ เช่น ความเสี่ยงด้านกายภาพเชิงปริมาณและคุณภาพ ความเสี่ยงทางด้านกฎหมายและชื่อเสียง และคาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคต เป็นต้น 

จากการประเมินในปี 2567 โดยใช้ข้อมูลพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในปัจจุบันและคาดการณ์ในปี 2573 พบว่า ความเสี่ยงด้านน้ำไม่เปลี่ยนแปลงจากการประเมินในปีก่อนหน้า ผลการประเมินละมาตรการจัดการความเสี่ยงสามารถสรุปได้ดังนี้ 

  • โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนนาน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโจวผิงในจีนที่ BPP มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยตรง ทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำระดับสูงมาก โดยโรงไฟฟ้าได้ดำเนินการปรับปรุงเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและปริมาณน้ำปล่อยออกให้เป็นไปตามที่ภาครัฐกำหนด และส่วนต่อขยายของโรงไฟฟ้าได้ติดตั้งระบบรีไซเคิลเพื่อให้สามารรถนำน้ำกลับมาใช้ได้ทั้งหมด 
  • โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple ในสหรัฐอเมริกา ที่ BPP มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยตรง พบว่า โรงไฟฟ้ามีความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำในระดับต่ำถึงปานกลาง มีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำในระดับปานกลางถึงสูง โดยโรงไฟฟ้าได้มีการติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำใช้ในโรงไฟฟ้า ทำให้สามารถลดการใช้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่และไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก 
  • โรงไฟฟ้าพลังความร้อนซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ได้แก่ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทย และโรงไฟฟ้าเอชพีซีในสปป.ลาว พบว่า โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีมีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำในระดับสูง เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ติดทะเล โดยโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีได้ลงทุนในการสร้างโรงผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วยวิธีการผลิตน้ำจืดและน้ำประปาจากน้ำทะเลด้วยระบบกรองน้ำโดยใช้ระบบรีเวิร์สออสโมซิส (The Reverse Osmosis Seawater Desalination Plant : ROSDP) กำลังการผลิต 1,000 ลบ.ม./ วัน เพื่อบรรเทาวิกฤตการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกให้เพียงพอต่อภาคประชาชนและเกษตรกรรม สามารถลดปริมาณการใช้น้ำจืดในพื้นที่มาใช้ลงทั้งหมด (ร้อยละ 100) ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สำหรับโรงไฟฟ้าเอชพีซี ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำในระดับต่ำ แต่โรงไฟฟ้าได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำในพื้นที่ ได้แก่ แหล่งน้ำเลือก และแหล่งน้ำแก่น โดยดำเนินการศึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนำโปรแกรมจำลองมาใช้ในการพยากรณ์สมดุลน้ำในพื้นที่ กำหนดตัวชี้วัดปริมาณน้ำในจุดต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังและกำหนดมาตรการที่เหมาะสม รวมถึงสร้างบ่อพักน้ำภายในพื้นที่เพื่อเป็นควบคุมคุณภาพน้ำและนำกลับมารีไซเคิล 

 

การปรับปรุงอัตราการใช้น้ำและการสูญเสียความร้อนของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง 

จากการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาลในภาคอุตสาหกรรมของจีน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้งต้องปรับเปลี่ยนการใช้น้ำจากน้ำบาดาลมาเป็นน้ำผิวดิน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการใช้น้ำเพิ่มขึ้นราว 2 เท่า 

โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้งได้มองเห็นโอกาสในการลดอัตราการใช้น้ำและความร้อนที่สูญเสียไปในระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและลดต้นทุนการผลิต โดยออกแบบและติดตั้งระบบท่อและเครื่องสูบน้ำเพื่อหมุนเวียนการใช้น้ำที่โรงเก็บสารเคมีและหอระบายความร้อน จากการดำเนินงานพบว่าสามารถลดการดึงน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินได้ประมาณ 280,000 ตัน หรือ ประหยัดต้นทุนการผลิตได้ราว 205,000 เหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนของระบบทำความร้อนได้ 27,453 เหรียญสหรัฐ และลดค่าใช้จ่ายในการสูญเสียความร้อนความร้อนได้ 123,536 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมนวัตกรรมในองค์กรของ BPP 

 

ระบบการจัดการน้ำที่โรงไฟฟ้า Temple 

โรงไฟฟ้า Temple  มีบ่อกักเก็บน้ำขนาด 10 เอเคอร์ (ประมาณ 40,000 ตารางเมตร) ภายในบริเวณพื้นที่ของโรงไฟฟ้า เพื่อใช้กักเก็บน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่จากโรงบำบัดน้ำเสียที่ให้บริการแก่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า น้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่นี้เป็นแหล่งน้ำหลักที่ช่วยลดการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถใช้น้ำเพื่อใช้อุปโภคได้เพียงพอต่อความต้องการ โดยมีต้นทุนต่ำกว่าแหล่งน้ำบาดาลหรือน้ำที่ใช้ในการบริโภคอื่นๆ

โรงไฟฟ้า Temple บำบัดน้ำในเบื้องต้นด้วยวิธีการทางชีวภาพ โดยเลี้ยงปลาซึ่งกินพืชและสาหร่ายเป็นอาหาร จึงช่วยควบคุมปริมาณสาหร่ายและความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ส่งผลให้สามารถลดปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดน้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ จากนั้นน้ำจะถูกนำเข้าสู่ระบบบำบัด Zero-Liquid Discharge (ZLD) ของโรงไฟฟ้าเพื่อให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าต่อไป

จากการบริหารจัดการน้ำในโรงไฟฟ้า Temple  แบบองค์รวม ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถสำรองปริมาณน้ำใช้ได้อย่างพอเพียงและไม่มีการปล่อยน้ำเสียจากการผลิตออกสู่ลุ่มน้ำเท็กซัส

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • ใช้วิธีการทางชีวภาพในการบำบัดน้ำ ทำให้สามารถลดการใช้สารเคมี Sodium Hypochlorite (NaClO) เพื่อบำบัดน้ำเสีย ปริมาณ 200 ตัน/ปี หรือลดค่าใช้จ่ายราว 648,912 เหรียญสหรัฐ
  • ลดปริมาณการปล่อยน้ำเสียได้ราว 1.95 เมกะลิตร/ปี
  • ลดผลกระทบจากการดึงทรัพยากรน้ำธรรมชาติในพื้นที่มาใช้
  • สร้างทัศนคติที่ดีต่อชุมชน

 

 

เอกสารดาวน์โหลด

นโยบายการบริหารจัดการน้ำ

© 2025 Banpu Power Public Company Limited | บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน). All rights reserved.