ความสำคัญ
ต้นทุนหลักของโรงไฟฟ้าคือค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และพลังงานในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานจึงมีผลโดยตรงต่อต้นทุน ความสามารถในการแข่งขัน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกัน กฎระเบียบที่จำกัดปริมาณการใช้ถ่านหินในประเทศจีนยังเป็นความท้าทายที่ BPP จะต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการปรับปรุงการใช้พลังงานในโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันและการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในอนาคต เพื่อลดอัตราการใช้พลังงาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดไฟฟ้าเสรี และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต ได้แก่
- การใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
- การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม
- การใช้น้ำมันดีเซลในการจุดหม้อต้ม เครื่องจักรขนาดใหญ่ และการขนส่ง
- การใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลในการขนส่ง
- การซื้อไฟฟ้าจากภายนอก
- การใช้พลังงานไฟฟ้าที่ใช้โดยอุปกรณ์และระบบภายในโรงไฟฟ้าเองเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ
- การทดลองใช้ชีวมวล ของเสียจากอุตสาหกรรม และสารอื่น ๆ มาเผาไหม้ร่วมกับถ่านหินในโรงไฟฟ้า
แนวทางการบริหารจัดการ
BPP มุ่งเน้นการบริการจัดการพลังงานโรงไฟฟ้าทุกแห่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยดำเนินการตามแนวทางดังนี้
- การเลือกใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- การบริหารการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ โดยวางแผนการซ่อมบำรุงอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มดัชนีความพร้อมจ่าย (Availability Factor: AF) ลดดัชนีการหยุดซ่อมตามแผน (Planned Outage Factor) และดัชนีการหยุดซ่อมนอกแผน (Unplanned Outage Factor) รวมถึงลดการสูญเสียพลังงานจากการหยุดและเริ่มเดินเครื่อง
- การปรับปรุงประสิทธิภาพของหม้อต้มไอน้ำให้เกิดการเผาไหม้สมบูรณ์ที่สุด
- การมองหาโอกาสในการลดการสูญเสียความร้อนและพลังงานในระบบ พร้อมทั้งการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่
- การปรับปรุงระบบสนับสนุนต่างๆ เช่น การปรับปรุงคุณภาพน้ำภายในหม้อต้มไอน้ำ เพื่อเพิ่มอายุการใช้งาน ลดการปล่อยน้ำออกและการเติมน้ำใหม่เข้าสู่ระบบ
- การมองหาโอกาสในการใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้สามารถใช้เชื้อเพลิงได้หลากหลายขึ้น เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมหลอมโลหะ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
- การวางแผนการจัดซื้อเชื้อเพลิงจากแหล่งผลิตที่หลากหลาย เพื่อสร้างทางเลือกในการจัดหาเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสมและลดความเสี่ยงในการขาดแคลนเชื้อเพลิง
- การพัฒนาแอปพลิเคชันในการบริหารจัดการพลังงานในโรงไฟฟ้าอย่างครบวงจรตั้งแต่การจัดซื้อ จัดเก็บ การผสม และการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต
การเก็บรวบรวมข้อมูล
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตเก็บจากมิเตอร์วัดค่าความร้อนตามการใช้จริง
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ปริมาณถ่านหินที่ใช้ในโรงไฟฟ้าในจีนเก็บจากเครื่องชั่งที่สายพานลำเลียงถ่านหินก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงไฟฟ้า ปริมาณก๊าซได้จากมิเตอร์วัดอัตราการไหลของก๊าซ
- ปริมาณเชื้อเพลิงอื่น ๆ ได้แก่ ดีเซล ไบโอดีเซล และเบนซิน เก็บรวบรวมจากข้อมูลในใบเสร็จรับเงิน
การคำนวณปริมาณการใช้พลังงาน
บริษัทฯ ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ (Energy conversion factor) อ้างอิงตาม GHG Protocol: Emission Factors from Cross Sector Tools สำหรับดีเซล ไบโอดีเซล และเบนซิน และใช้ค่าจากการตรวจวัดรายเดือนสำหรับถ่านหินและก๊าซ
ผลการดำเนินงาน
- อัตราการใช้พลังงานต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ 2.48 กิกะจูล/เมกะวัตต์-ชั่วโมง
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 0.72 กิกะจูล/เมกะวัตต์-ชั่วโมง
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 3.88 กิกะจูล/เมกะวัตต์-ชั่วโมง
ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ
การลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าโจวผิง
เนื่องจากเครื่องจักรในระบบกำจัดเถ้าลอยของโรงไฟฟ้าโจวผิงมีระยะเวลาเดินเครื่องมาอย่างยาวนาน ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพเครื่องจักรลดลง และใช้พลังงานไฟฟ้าสูงขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าโดยรวมลดลง อีกทั้งยังต้องตอบสนองต่อการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำซึ่งมีกระบวนการ แตกต่างจากตอนเริ่มดำเนินการของโรงไฟฟ้า ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้มีแผนงานในการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพและลดอัตราการใช้พลังงาน ไฟฟ้าของเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
บริษัทฯ ได้ศึกษาทางวิศวกรรมและออกแบบพัฒนาระบบกำจัดเถ้าลอยด้วยการติดตั้งเครื่องสูบเถ้าลอย (Bin Pump) เพิ่มเติม 1 เครื่อง ที่ตำแหน่งกรวยรับเถ้าลอย (Ash Hopper) หมายเลข 5 และ 6 ทำให้ระบบจะมีเครื่องสูบเถ้าลอยทั้งหมด 3 เครื่อง และได้เคลื่อนย้ายเครื่องสูบเถ้าลอยเดิมที่ตำแหน่งกรวยรับเถ้าลอยหมายเลข 1, 2, 3 และหมายเลขที่ 4, 5, 6 เป็นเครื่องที่ 1, 2, และเครื่องที่ 3, 4 เพื่อให้เกิดความสมดุลในระบบ จากการดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบเถ้าลอยเพิ่มเติม และเปลี่ยนตำแหน่งการติดตั้ง ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 1,421,400 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และสามารถประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าราว 640,000 หยวนต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมความเร็วรอบของพัดลมเป่าที่หม้อต้มน้ำตัวที่ 4 และ 6 และพัดลมดูดที่หม้อต้มน้ำตัวที่ 6 เพื่อลดความเร็วรอบในขณะที่โรงไฟฟ้าเดินเครื่องในโหมดเดินเครื่องต่ำ ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในมอเตอร์ได้ราวร้อยละ 50 หรือประมาณ 9,290,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี สามารถประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าราว 4,200,000 หยวนต่อปี
การผสมถ่านที่มีค่าความร้อนต่ำของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง
เนื่องจากถ่านหินที่มีค่าความร้อนต่ำประมาณ 2,000-3,000 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม มีราคาที่ถูกกว่าและมีปริมาณมากกว่าถ่านหินที่มีค่าความร้อนสูงกว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันในท้องตลาด ซึ่งมีค่าความร้อน 3,400 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม ดังนั้นโรงไฟฟ้าเจิ้งติ้ง จึงดำเนินการศึกษาและทดลองการนำถ่านหินที่มีค่าความร้อนต่ำกว่าปัจจุบันให้สามารถใช้กับหม้อต้มไอน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย กำลังการผลิต เสถียรภาพ และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า
กระบวนการที่สำคัญในการทดลองคือ
- กระบวนการควบคุมค่าความร้อนและคุณภาพของถ่านหินหลังจากการผสมถ่านหินที่มีค่าความร้อนแตกต่างกันจากหลายแหล่งในลานกองถ่านหิน
- กระบวนการเดินเครื่องของแต่ละหม้อไอน้ำ การติดตามเฝ้าระวัง และการเตรียมแผนฉุกเฉิน
- การบำรุงรักษาหม้อไอน้ำโดยเน้นตรวจสอบเพิ่มเติมเรื่องความเสียหายที่อาจจะเกิดจากการกัดกร่อนและการป้องกันพิเศษเพิ่มเติม
ผลการทดลองแสดงถึงความสามารถของอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าที่สามารถรองรับถ่านหินที่มีค่าความร้อนต่ำที่สุด 2,600 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม ดังนั้น ปัจจุบันโรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งจึงใช้ถ่านหินจากการผสมที่มีค่าความร้อนเฉลี่ย 2,800 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม ลดลงประมาณ 600 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงลงได้ 37.85 ล้านหยวน