การบริหารจัดการความเสี่ยง
ความสำคัญ
ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบ หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความคาดหวังด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environment, Social and Governance: ESG) ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำกับดูแลกิจการ และเป็นกลไกสำคัญที่บริษัทฯ ใช้ในการดำเนินงานเพื่อป้องกันความสูญเสียและการเติบโตอย่างมั่นคง ทั้งด้านกลยุทธ์ การลงทุน การดำเนินการก่อสร้างโครงการและการดำเนินงานผลิตให้เป็นไปตามเป้าหมาย สร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสีย
แนวทางการบริหารจัดการ
บริษัทฯ มีโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับองค์กร และระดับหน่วยธุรกิจ ดังนี้
- การบริหารความเสี่ยงระดับหน่วยธุรกิจ: เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสามารถติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด ผู้จัดการความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์ ทำหน้าที่วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงในสินทรัพย์นั้นๆ รายงานความคืบหน้า และผลการปฏิบัติงานด้านความเสี่ยง ให้แก่หน่วยงานความยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง (Sustainable Development and Risk Management) ซึ่งจะทำหน้าที่รวบรวมและจัดทำสรุปรายงานความเสี่ยงแต่ละสินทรัพย์ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee)
- การบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร: คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee) เป็นกลไกหลักในการบริหารความเสี่ยงขององค์กร ประกอบไปด้วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูงทุกหน่วยงาน ยกเว้นหน่วยงานตรวจสอบภายในเพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีหน้าที่สำคัญดังต่อไปนี้
-
- ประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อให้มั่นใจว่า ความเสี่ยงสำคัญขององค์กรได้ถูกระบุและประเมินอย่างสม่ำเสมอ และจัดให้มีมาตรการหรือแผนบรรเทาความเสี่ยงที่มีประสิทธิผล เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- การให้ความสนับสนุนในเชิงนโยบายเพื่อให้การจัดการความเสี่ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ระดับหน่วยธุรกิจไปจนถึงระดับกลยุทธ์ขององค์กร
- การให้การสนับสนุนทรัพยากรทั้งจากภายในและภายนอกที่จำเป็นต่อการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ
- สร้างความตระหนักด้านการบริหารความเสี่ยงในทุกหน่วยธุรกิจของบริษัทฯ และ ในธุรกิจที่บริษัทร่วมลงทุน
- รายงานผลการบริหารความเสี่ยงต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส
- นำเสนอนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงกำหนดเกณฑ์การประเมินความเสี่ยง

บริษัทฯ ได้มีการประกาศนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงและมีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ จัดตั้งให้มีหน่วยงานความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยง ที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อประสานงานกับทุกหน่วยงาน และผลักดันให้เกิดการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร มีกลไกในการค้นหาและระบุความเสี่ยงที่สำคัญของธุรกิจครอบคลุมมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลกิจการ (ESG) โดยประเมินถึงโอกาสเกิดและผลกระทบที่อาจมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อพิจารณาความสำคัญ ก่อนกำหนดเป็นรายการความเสี่ยงองค์กร และมอบหมายผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ รวมถึงมีการติดตามความก้าวหน้าและทบทวนประเด็นความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้บูรณาการหลักการบริหารความเสี่ยงเข้ากับกระบวนการต่างๆ ภายในองค์กรเพื่อสร้างความตระหนักถึงความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมให้การบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (materiality) และการจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานประจำปี
กลไกการดำเนินงาน
เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการความเสี่ยง บริษัทฯ ได้ผนวกการบริหารความเสี่ยงเข้ากับแผนกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยใช้หลักการการบริหารความเสี่ยงแบบสหพันธ์ (risk correlation) มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของความเสี่ยงแต่ละประเด็นให้ครอบคลุมทั้งเชิงบวกและเชิงลบ รวมทั้งนำประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญมาประกอบการประเมินประเด็นที่สำคัญด้านความยั่งยืนเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้น
กระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ เริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ตามแผนการดำเนินธุรกิจและแยกย่อยกระจายไปสู่ระดับหน่วยธุรกิจ โดยพนักงานซึ่งเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในงาน จะระบุประเด็นความเสี่ยงในแต่ละส่วนของตนเองอย่างละเอียด โดยจะประเมินโอกาสในการเกิดและผลกระทบจากความเสี่ยงนั้นๆ พร้อมทั้งจัดเตรียมแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วรายงานต่อผู้บังคับบัญชาและผู้จัดการด้านความเสี่ยง เพื่อรวบรวมเป็นความเสี่ยงของหน่วยธุรกิจ แล้วส่งรายงานดังกล่าวมายังหน่วยงานความยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงเพื่อรวบรวมเป็นรายงานความเสี่ยงในระดับองค์กร เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริหารทุกไตรมาส
นอกจากนี้หน่วยงานความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยง จะรายงานความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ESG ให้แก่คณะกรรมการ ESG ได้รับทราบและกำกับดูแลความเสี่ยงด้าน ESG
บริษัทฯ มีการประเมินความเสี่ยงในการลงทุนในธุรกิจใหม่ ทั้งทางด้านผลตอบแทนและประเด็นความเสี่ยง ESG อย่างรอบด้านในแต่ละโครงการ เพื่อนำเสนอผลการประเมินและแผนการจัดการต่อคณะกรรมการพิจารณาการลงทุน (Investment Committee) เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนของบริษัทฯ มีการประเมินและบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
ผลการดำเนินงาน
- มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงครอบคลุมทุกหน่วยธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 100
- สัดส่วนความครอบคลุมของระบบการบริหารความเสี่ยงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ESG คิดเป็นร้อยละ 97
- การประเมินความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ในการจัดทำแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ สำหรับปี 2573 เพื่อให้แผนกลยุทธ์มีความรอบคอบ ยืดหยุ่น และตอบโจทย์การเติบโตในระยะยาวของบริษัทฯ
- มีการรวบรวมและทบทวนรายงานการประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่นจากแต่ละสินทรัพย์ และจัดทำแนวทางจัดการความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่น เพื่อเตรียมความพร้อมยื่นต่ออายุการรับรองการเป็นสมาชิกการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action against Corruption: CAC) ในปี 2568
- จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนและความเสี่ยงขององค์กร
- จัดอบรม “ESG Risks and Trends in Power Business” ให้แก่คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน
- สร้างความตระหนักด้านความเสี่ยงและความยั่งยืน โดยจัดทำสรุปข่าวสาร ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อสื่อสารให้แก่ผู้บริหารและพนักงานในองค์กรรับทราบทุกเดือน
ตัวอย่างกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ
จากการประเมินความเสี่ยงของบริษัทฯ พบความเสี่ยงเกิดขึ้นใหม่หรือเป็นความเสี่ยงเดิมที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1. ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิเศรษฐศาสตร์โลก (Geoeconomic Confrontations)
ในปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีการเลือกตั้งในหลายประเทศ ความตึงเครียดทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆ มีความรุนแรงมากขึ้น จนก่อให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคม การแข่งขันและการแบ่งขั้วระหว่างประเทศมหาอำนาจ นำไปสู่ความขัดแย้งทางด้านภูมิเศรษฐศาสตร์โลกที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายปีในอนาคต ทำให้หลายประเทศยังต้องเผชิญความท้าทายในการร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจหรือเกิดความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจ เช่น ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ หรือราคาพลังงานที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบทางตรงต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งบริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจในหลายประเทศ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวได้ โดยบริษัทฯ ได้มีการดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศมหาอำนาจต่างขั้วกัน ทั้งในประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจถูกกีดกันการค้าหรือการลงทุน และส่งผลกระทบทางลบต่อการสร้างรายได้หรือการดำเนินธุรกิจให้เติบโตตามเป้าหมายได้ อีกทั้งมีความความไม่แน่นอนในการลงทุนจากอัตราดอกเบี้ย ต้นทุนปัจจัยที่ใช้ในการผลิต รวมไปถึงความต้องการใช้พลังงานและไฟฟ้าของลูกค้า บริษัทฯ จึงยังคงให้ความสำคัญ และมีความเตรียมพร้อม เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวดังนี้
- ศึกษาแนวโน้มด้านเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน มาตรการทางการค้าในประเทศที่ไปลงทุน เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการประเมินการลงทุน และจัดทำแผนธุรกิจเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน แต่ยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทฯ
- การติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrend) อย่างใกล้ชิด เช่น แนวโน้มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทิศทางตลาดไฟฟ้าเสรี และปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำมาปรับใช้หรือประเมินผลกระทบต่อแผนธุรกิจหรือแผนกลยุทธ์ในระยะยาว
- กำหนดมาตรการภายในเพื่อสร้างทางเลือกและความยืดหยุ่นในการดำเนินงานให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่บริษัทฯ
2. ความเสี่ยงด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ผิดพลาดหรือข้อมูลที่บิดเบือน (Misinformation and Disinformation)
ในปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีทางดิจิทัลรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการจัดการข้อมูล วิเคราะห์ ประมวลผล และนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจทางด้านการบริหารจัดการและการตลาด รวมไปถึงนำมาช่วยในการพัฒนาข้อมูลข่าวสาร และไปยังกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งผู้ใช้สื่อหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอาจไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลก่อน หรือมีผู้ไม่หวังดีใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว โดยจงใจบิดเบือนข้อมูลและนำไปเผยแพร่เพื่อสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจหรือองค์กร เช่น การเผยแพร่ข่าวลวงเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการพลังงาน, การตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการดำเนินงาน หรือการโจมตีทางภาพลักษณ์ผ่านการนำเสนอข้อมูลเท็จสู่โซเชียลมีเดีย การใช้ประโยชน์จาข้อมูลที่ผิดพลาดหรือการบิดเบือนข้อมูลมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของบริษัท ฯ เช่น การสูญเสียความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสีย การขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุน หรือกระทบต่อโอกาสทางธุรกิจในอนาคต และหากข้อมูลเท็จไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว อาจทำให้บริษัทฯ เผชิญกับความเสียหายทั้งในด้านการเงินและกฎหมายอีกด้วย
บริษัทฯ จึงได้ให้ความสำคัญ และมีการวางแนวทางการจัดการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าวดังนี้
- การสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ โดยการรายงานหรือเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG และผลประกอบการอย่างต่อเนื่องในช่องทางที่เชื่อถือได้ เช่น รายงานประจำปี, รายงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเว็บไซต์ทางการของบริษัท ฯ และใช้ข้อมูลที่ได้รับตรวจสอบความถูกต้องจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร
- การสร้างช่องทางการสื่อสารที่ชัดเจนและสื่อสารเชิงรุก โดยการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานผ่านเว็บไซต์ทางการของบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอและเป็นปัจจุบัน และมีการติดตามข่าวสารของบริษัทฯ จากสื่อภายนอกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถตอบสนองต่อการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนโดยสื่ออื่น ๆ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องผ่านช่องทางที่เชื่อถือได้อย่างรวดเร็ว
- กลุ่ม บ้านปู ได้จัดทำนโยบายการใช้ AI โดยใช้เป็นแนวปฏิบัติในการนำ AI มาใช้ในการดำเนินงานในองค์กร เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการใช้ AI ที่อาจเกิดขึ้น
บริษัทฯ จัดการประชุม Materiality Review & ESG Risks Workshop 2024 ในวันที่ 11 มกราคม 2567 โดยมีผู้ร่วมประชุมได้แก่ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท เพื่อร่วมพิจารณาประเด็นที่สำคัญด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ มีการพูดคุยแสดงความคิดเห็นในเรื่องแนวโน้มความเป็นไปและความเสี่ยงด้าน ESG ของธุรกิจไฟฟ้า ที่มาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกขององค์กร พร้อมทั้งนำประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนและประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญมาเป็นข้อมูลประกอบการประเมินและบริหารจัดการ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถปรับตัวและกำหนดกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงขององค์กรได้อย่างเหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

บริษัทฯ ให้ความสำคัญและมุ่งสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ในการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance: ESG) อย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยได้จัด ESG Summit 2024 ในเดือนตุลาคม โดยมีคณะกรรมการบริษัท และพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วม ESG Summit ของกลุ่มบ้านปู โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 142 คน และเข้าร่วมผ่านช่องทางออนไลน์จำนวน 216 คน โดยได้มุ่งเน้นความสำคัญเรื่อง การลดคาร์บอน (Decarbonization) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อความยั่งยืน รวมไปถึงการสร้างความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีผู้บริหาร พนักงาน และที่ปรึกษาในระดับสากลร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

บริษัทฯ จัดอบรมทั้งรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ในหัวข้อ “ESG Risks and Trends in Power Business” ให้แก่คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ในเดือนพฤศจิกายน โดยเชิญวิทยากรภายนอกจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ มาบรรยายและให้ความรู้เรื่อง การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อความยั่งยืนในธุรกิจไฟฟ้า (AI for Electricity Utilities Business and Sustainability) ในการบรรยายได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ AI ในธุรกิจไฟฟ้าและตัวอย่างการนำไปใช้ อาทิ
- เทคโนโลยี AI ในธุรกิจไฟฟ้า
- การใช้ AI เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน ESG
- ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจาก AI
ทำให้ผู้ร่วมอบรมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มมากขึ้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน รวมไปถึงการกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยผู้เข้าร่วมร้อยละ 85.7 มีความพึงพอใจในการเข้าอบรมและเห็นว่าการอบรมสามารถสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI เพื่อความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น และจะมีความตระหนักในการใช้ AI มากขึ้นในอนาคต

เอกสารดาวน์โหลด
นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ประกาศแต่งตั้ง Global Information Security Officer (GISO) ของกลุ่มบ้านปู

Risk Management Committee Charter

Risk Appetite Policy
